ชนิดของเปรต
ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีบันทึกไว้ว่า เปรตแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ก็มี บางแห่งแบ่งเป็น 12 ตระกูลบ้าง หรือแยกย่อยออกเป็น 21 ชนิดบ้าง แล้วแต่จุดประสงค์ในการจำแนก ในลำดับต่อไปนักศึกษาจะได้ทราบรายละเอียดของเปรตชนิดต่างๆ
เปรต 4 จำพวก ในเปตวัตถุ อรรถกถา แสดงเปรต 4 จำพวก คือ
1. ปรทัตตูปชีวิกเปรต เป็นเปรตที่เลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้ โดยการเซ่นไหว้ เป็นต้น
2. ขุปปีปาสิกเปรต เป็นเปรตที่อดอยาก หิวข้าวหิวน้ำอยู่เป็นนิตย์
3. นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
4. กาลกัญชิกเปรต เป็นเปรตในจำพวกอสุรกาย หรือเป็นชื่อของอสุรกายที่เป็นเปรต
ในอปทาน อรรถกถา สุตตนิบาตอรรถกถา และพุทธวังสะอรรถกถา แสดงว่าบรรดาพระโพธิสัตว์ ทั้งหลาย นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์เป็นต้นไป จะไม่เกิดเป็น ขุปปีปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต หรือกาลกัญจิกเปรต ถ้าจะต้องไปเกิดเป็นเปรต ก็จะเกิดเป็น ปรทัตตูปชีวิกเปรต ประเภทเดียว
เปรต 12 ตระกูล ได้แก่
1. วันตาสเปรต เปรตที่กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียน เป็นอาหาร
2. กุณปาสเปรต เปรตที่กินซากศพคน หรือสัตว์ เป็นอาหาร
3. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระต่างๆ เป็นอาหาร
4. อัคคิชาลมุขเปรต เปรตที่มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
5. สุจิมุขเปรต เปรตที่ปากเท่ารูเข็ม
6. ตัณหัฏฏิตเปรต เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียนให้หิวข้าวหิวน้ำเสมอ
7. นิชฌามกเปรต เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่เผา
8. สัพพังคเปรต เปรตที่มีเล็บมือ เล็บเท้ายาวคมเหมือนมีด
9. ปัพพตังคเปรต เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
10. อชครเปรต เปรตที่มีร่างกายคล้ายสัตว์เดียรัจฉาน
11. มหิทธิกเปรต เปรตที่มีฤทธิ์มาก
12. เวมานิกเปรต เปรตที่ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ไปเสวยสุขในวิมาน
เปรต 21 จำพวก ในวินัย และลักขณสังยุตตพระบาลี แสดงเปรต 21 จำพวก คือ
1. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ
2. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก
3. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
4. นิจฉวิเปรต เปรตที่ไม่มีหนัง
5. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
6. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก
7. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
8. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
9. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ 2
10. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
11. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ
12. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ
13. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง
14. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
15. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
16. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ
17. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนพระ
18. ภิกขุนีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนภิกษุณี
19. สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสิกขมานา
(สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็นเวลา 2 ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี)
20. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณร
21. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือนสามเณรี
รายละเอียดเปรต 12 ตระกูล
เปรตสามารถแบ่งเป็นหลายประเภท แต่ในที่นี้จะนำเสนอรายละเอียดเฉพาะเปรต 12 ตระกูล
ตระกูลที่ 1 วันตาสาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างน่าเกลียด น่ากลัว และอดอยากหิวโหย เมื่อเปรตเหล่านี้เห็นมนุษย์ถ่มเสลด น้ำลายออกมา ต่างตื่นเต้นดีใจรีบตรงไปดูดเอาโอชะเสลดเป็นอาหาร กินแล้วยังหิวโหยเช่นเดิม จนกว่าจะสิ้นกรรมที่ทำไว้ จึงจะไปเกิดในภูมิอื่น
กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติก่อนเป็นคนตระหนี่จับขั้วหัวใจ เห็นผู้ใดอดอยากมาขออาหาร ก็พาลโกรธถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ที่ควรเคารพบูชา เช่น โบสถ์ วิหาร ลานพระเจดีย์ แล้วไม่มีความเคารพต่อสถานที่ ได้ถ่มเสลดน้ำลายลงในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้น เมื่อตายแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตในตระกูลนี้
ตระกูลที่ 2 กุณปขาทาเปรต
เปรตตระกูลนี้มีรูปร่างน่าเกลียดมาก จะซอกซอนหาซากอสุภะกินเป็นอาหารด้วยความหิวโหย ครั้นเห็นซากอสุภะของสัตว์ที่ล้มตาย กลายเป็นศพอืดเน่าเหม็น เปรตเหล่านี้จะดีอกดีใจวิ่งเข้าไปดูดโอชะที่เน่าเหม็นจากซากอสุภะนั้น
กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชาติที่เป็นมนุษย์มีความตระหนี่ เมื่อมีผู้มาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยความปรารถนาจะแกล้งประชด ไม่เคารพในทาน จึงมาเกิดเป็นเปรตประเภทนี้
ตระกูลที่ 3 คูถขาทาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างน่าสะอิดสะเอียน น่าเกลียด เปรตชนิดนี้จะเที่ยวแสวงหาคูถ คือ อุจจาระ ที่คนถ่ายเอาไว้ ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมากเท่าไรก็ยิ่งชอบ เมื่อเปรตเหล่านี้เห็นอุจจาระจะดีใจจนเนื้อเต้น รีบวิ่งรี่เข้าไปที่กองอุจจาระเหมือนสุนัขอย่างนั้น ครั้นไปถึงก็ก้มหน้าดูดเอาโอชะของคูถนั้นเป็นอาหาร แต่ก็ไม่เคยอิ่มเลย
กรรมที่ทำให้มาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งที่เป็นมนุษย์ มีความตระหนี่จัด เมื่อหมู่ญาติที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือผู้คนมาหาเพื่อขอความช่วยเหลือ ขอข้าว ขอน้ำดื่ม จะเกิดอาการขุ่นเคืองขึ้นมาทันที ชี้ไปที่มูลสัตว์พร้อมกับบอกว่า "ถ้าอยากได้ ก็จงเอาไปกินเถิด แต่จะมาเอาข้าวปลาอาหาร ข้าไม่ให้หรอก" แล้วก็ขับไล่ไสส่ง ด่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ตายแล้วจึงไปเกิดเป็นเปรตชนิดนี้
ตระกูลที่ 4 อัคคิชาลมุขาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างผอมโซ มีเปลวไฟแลบออกมาจากปากตลอดเวลา ทั้งกลางวันกลางคืน ไฟไหม้ปากไหม้ลิ้นเจ็บแสบเจ็บร้อน ครั้นทนไม่ได้ก็วิ่งร้องไห้ครวญครางไปไกลถึงร้อยโยชน์ พันโยชน์ ถึงกระนั้นไฟก็ไม่ดับ กลับเป็นเปลวเผาลนปากและลิ้นหนักเข้าไปอีก
กรรมที่ทำให้มาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ มีความตระหนี่เหนียวแน่น เมื่อมีใคร มาขอ ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวคนอื่นดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังจะแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบ จะได้เลิกมาขอ เพราะไม่เห็นอานิสงส์ของการทำทาน
ตระกูลที่ 5 สุจิมุขาเปรต
เปรตตระกูลนี้ รูปร่างแปลกพิกล คือ เท้าทั้งสองใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะได้อาหารมาบริโภคแต่ละครั้งก็ไม่พออิ่ม เพราะมีปากเท่ารูเข็ม อาหารไม่อาจจะผ่านช่องปากเข้าไปได้ง่ายๆ อยากกินแต่กินไม่ได้ ต้องทุกข์ทรมานแสนลำบาก ร่างกายผอมโซดำเกรียม
กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนตระหนี่ในชาติที่เป็นมนุษย์ เมื่อมีใครมาขออาหาร ก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาที่จะถวายทานแก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล มีจิตหวงแหนทรัพย์สมบัติ ผลกรรมตามสนอง ต้องมาเกิดเป็นเปรตปากเท่ารูเข็ม
ตระกูลที่ 6 ตัณหาชิตาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างผอมและอดอยากเช่นเดียวกับเปรตพวกอื่น คือ มีความอยากข้าว น้ำเป็นกำลัง ที่แปลกออกไป คือ เปรตเหล่านี้จะเดินตระเวนท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เพื่อหาอาหาร เมื่อมองไปเห็นสระ บ่อ ห้วย หนอง ก็ตื่นเต้นดีใจ รีบวิ่งไปโดยเร็ว แต่ครั้นไปถึงแหล่งน้ำนั้น กลับกลายเป็นสิ่งอื่นด้วย อำนาจกรรมบันดาล
กรรมที่ทำให้เป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อ ปิดหม้อ ไม่ให้คนอื่นได้ดื่มกิน ครั้นละโลกแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตอดอยากข้าวน้ำดังกล่าว
ตระกูลที่ 7 นิชฌามักกาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างเหมือนต้นเสาหรือต้นไม้ที่ถูกไฟไหม้ สูงชะลูดดำทะมึน แลดูน่ากลัวมาก มีกลิ่นเหม็นเน่า มือและเท้าเป็นง่อย ริมฝีปากด้านบนห้อยทับริมฝีปากด้านล่าง มีฟันยาว มีเขี้ยวออกจากปาก ผมยาวพะรุงพะรัง มีความอดอยากเหลือประมาณ ยืนทื่ออยู่ที่เดิมไม่ท่องเที่ยวไปไหนเหมือนเปรตชนิดอื่น
กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลก็โกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่า ท่านเหล่านั้นจะมาขอของตน จึงแสดงกิริยาอาการเยาะเย้ยถากถาง ขับไล่สมณพราหมณ์ เหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่เป็นคนแก่คนเฒ่า เกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเพราะความชรา แกล้งให้ท่านตกใจจะได้ตายไวๆ ตัวเองจะได้ครอบครองสมบัติ
ตระกูลที่ 8 สัพพังคาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีร่างกายใหญ่โต มีเล็บมือเล็บเท้ายาวคมเหมือนมีดเหมือนดาบและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาตะกายข่วนร่างกายตนเองให้ขาดเป็นแผลด้วยเล็บ แล้วกินเลือดเนื้อของตนเองเป็นอาหาร
กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะชอบขูดรีดชาวบ้าน เอาเปรียบผู้อื่น หรือบางครั้งชอบรังแกหยิกข่วนบิดามารดา ถ้าเป็นหญิงก็หยิกข่วนสามีของตน
ตระกูลที่ 9 ปัพพตังคาเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีร่างกายใหญ่เหมือนภูเขา เวลากลางคืนสว่างไสวรุ่งเรืองด้วยเปลวไฟ กลางวันเป็นควันล้อมรอบกาย เปรตเหล่านี้ต้องถูกไฟเผาคลอก นอนกลิ้งไปมาเหมือนขอนไม้ที่กลิ้งอยู่กลางไร่กลางป่า ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ร้องไห้ปานจะขาดใจ
กรรมที่เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ได้เอาไฟเผาบ้าน เผาโรงเรียน เผากุฏิ วิหาร เป็นต้น
ตระกูลที่ 10 อชครเปรต
เปรตตระกูลนี้ มีรูปร่างคล้ายกับสัตว์เดียรัจฉาน เช่น มีรูปร่างเป็นงูเหลือม เป็นเสือ เป็นม้า เป็นวัว เป็นควาย เป็นต้น แต่จะถูกไฟเผาไหม้ทั่วร่างกายทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ว่างเว้น แม้แต่วันเดียว
กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เมื่อเห็นสมณพราหมณ์ ผู้มีศีลมาเยือน ก็ด่าเปรียบเปรยท่านว่า เสมอด้วยสัตว์เดียรัจฉานต่างๆ เพราะไม่อยากให้ทาน หรือแกล้งล้อเลียนเป็นรูปสัตว์ต่างๆ
ตระกูลที่ 11 มหิทธิกาเปรต
เปรตตระกูลนี้ เป็นเปรตที่มีฤทธิ์และรูปงามดุจเทวดา แต่ว่าอดอยากหิวโหยอาหารอยู่ตลอดเวลา เหมือนเปรตชนิดอื่นๆ จะเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ เมื่อพบคูถมูตร และของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร
กรรมที่ทำให้เกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์ บวชเป็นพระภิกษุสามเณร พยายามรักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์ จึงมีรูปงามผุดผ่องราวเทวดา แต่ไม่ได้บำเพ็ญธรรม มีใจเกียจคร้านต่อการบำเพ็ญสมณธรรมตามวิสัยของบรรพชิต จิตใจจึงมากไปด้วย โลภะ โทสะ โมหะ มีความเข้าใจผิดว่า "เราบวชแล้ว รักษาแต่ศีลอย่างเดียวก็พอ ไม่เห็นต้องทำบุญให้ทานเหมือนฆราวาสเลย" ครั้นเมื่อละโลกจึงมาเกิดเป็นเปรตตระกูลนี้ เปรตตระกูลสุดท้าย
ตระกูลที่ 12 เวมานิก
เปรตตระกูลนี้จะมีสมบัติ คือ วิมานทองอันเป็นทิพย์ บางตนจะเสวยสุขราวเทวดาในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะเสวยทุกข์ที่เกิดจากความตระหนี่ในทรัพย์ บางตนเสวยสุขเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะเสวยทุกข์ ตามสมควรแก่กรรม
กรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีล ไม่รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ครั้นตายลงจึงตรงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต หรือเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาได้รักษาศีลเพียงอย่างเดียว แล้วไม่มีศรัทธาในการสร้างบุญกุศลอื่น และมีความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป แม้รักษาศีลก็รักษาแบบเสียไม่ได้ หรือไม่ตั้งใจรักษา
เปรตตระกูลนี้จะมีสมบัติ คือ วิมานทองอันเป็นทิพย์ บางตนจะเสวยสุขราวเทวดาในเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะเสวยทุกข์ที่เกิดจากความตระหนี่ในทรัพย์ บางตนเสวยสุขเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะเสวยทุกข์ ตามสมควรแก่กรรม
กรรมที่ทำให้เกิดมาเป็นเปรตตระกูลนี้ เพราะครั้งเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีล ไม่รักษากาย วาจา ใจ ให้บริสุทธิ์ ครั้นตายลงจึงตรงมาเกิดเป็นเวมานิกเปรต หรือเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาได้รักษาศีลเพียงอย่างเดียว แล้วไม่มีศรัทธาในการสร้างบุญกุศลอื่น และมีความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป แม้รักษาศีลก็รักษาแบบเสียไม่ได้ หรือไม่ตั้งใจรักษา
เรา จะเห็นได้ว่า การเสวยวิบากกรรมในภูมิเปรตนั้น เป็นทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพียงไร ทุกข์ในเมืองมนุษย์เทียบเท่าไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอย่ากระทำการใดๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกทรมานในภูมิเปรตนี้เลย
อบายภูมิ มี 4ภูมิ จัดอยู่ในกามภพ จัดแบ่งตามลักษณะของการกระทำฝ่ายอกุศล 1. นิรยภูมิ ตั้งอยู่ใต้เขาตรีกูฏมี 8ขุมใหญ่ (มหานรก)ในแต่ละขุมใหญ่จะมีขุมบริวาร (อุสสทนรก) อยู่โดยรอบทั้ง4 ทิศ
ทิศละ 4ขุม รวมมี นรกขุมบริวาร 128ขุม ถัดจากอุสสทนรกออกไปจะเป็นนรกขุมย่อย (ยมโลก) อยู่โดยรอบทิศทั้ง 4
ของมหานรก ทิศละ 10 ขุม รวมมีนรกขุมย่อย 320 ขุม
2. ติรัจฉานภูมิ อยู่ภพเดียวกับมนุษย์
3. เปตติวิสยภูมิ อยู่ในซอกเขาตรีกูฏก็มี อยู่ซ้อนกับภูมิมนุษย์ก็มี
4. อสุรกายภูมิ อยู่ในซอกเขาตรีกูฏก็มี อยู่ซ้อนกับภูมิมนุษย์ก็มี
1. นิรยภูมิ หรือ นรก จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 1 เป็นดินแดนที่ปราศจากความสุขสบาย สัตว์ที่ตกลงไปสู่นรก เพราะบาปกรรมชั่วที่ตนกระทำไว้เป็นอาจิณกรรม เมื่อตกลงไปแล้วจะต้องได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสไม่มีเวลาว่างเว้น จากการลงทัณฑ์ทรมาน นรกมีที่ตั้งอยู่ใต้เขาตรีกูฏ มีทั้งหมด 8 ขุมใหญ่ ที่เรียกว่า มหานรก และยังมีขุมบริวาร เรียกว่า อุสสทนรกอีก 128 ขุม มีนรกขุมย่อย ที่เรียกว่ายมโลกอีก 320 ขุม สัตว์ที่ใช้กรรมในมหานรกหมดแล้ว จะต้องมารับกรรมในอุสสทนรก และยมโลกต่อไป จนกว่าจะหมดกรรมที่ตนได้กระทำไว้
2. เปตติวิสยภูมิ หรือ ภูมิเปรต จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 2 เป็นดินแดนที่มีแต่ความเดือดร้อน อดอยาก หิวกระหาย เปรตแบ่งออกเป็นหลายประเภท แต่ที่นิยมแบ่งกันมาก คือ เปรต 12 ตระกูล ที่อยู่ของเปรตนั้นมีอยู่ที่ซอกเขาตรีกูฏ และมีปะปนอยู่กับมนุษยโลกด้วย แต่เป็นภพที่ละเอียดกว่า เหตุที่ทำให้มาเป็นเปรตเพราะทำอกุศลกรรมประเภทตระหนี่ หวงแหนทรัพย์เป็นหลัก การเกิดเป็นเปรตนั้นมี 2 ลักษณะ คือ ผ่านมาจากมหานรก อุสสทนรก และยมโลก กับจากมนุษย์ผู้กระทำอกุศลกรรม ละโลกแล้วไปเกิดเป็นเปรต
3. อสุรกายภูมิ จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 3 เป็นดินแดนที่ปราศจากความร่าเริง อสุรกายมีลักษณะคล้ายกับเปรตมาก แยกแยะได้ลำบาก และอยู่ในภพภูมิเดียวกันกับเปรต คือ ซอกเขาตรีกูฏ มีรูปร่างที่ประหลาด เช่น หัวเป็นหมูตัวเป็นคน มีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากเช่นเดียวกับเปรต คือ อยู่ด้วยความหิวกระหาย แต่หนักไปทางกระหายน้ำมากกว่าอาหาร ที่ต้องเกิดมาเป็นอสุรกายเพราะความโลภอยากได้ของผู้อื่นในทางมิชอบ
4. ติรัจฉานภูมิ จัดอยู่ในอบายภูมิอันดับที่ 4 เป็นอบายภูมิอันดับสุดท้าย ที่มีความทุกข์ทรมานน้อยกว่าสัตว์ที่เกิดในนรก เปรต และอสุรกาย ที่ชื่อเดียรัจฉาน เพราะมีลำตัวไปทางขวาง อกขนานกับพื้น และจิตใจก็ขวางจากหนทางพระนิพพานด้วย ที่อยู่ของสัตว์เดียรัจฉานนี้ อยู่ปะปนกับมนุษย์ทั่วไปที่เราเห็น สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามจำนวนเท้าของสัตว์ ตั้งแต่ สัตว์ไม่มีเท้า สัตว์มี 2 เท้า สัตว์มี 4 เท้า และสัตว์มีเท้ามากกว่า 4 ขึ้นไป
ชีวิตในสังสารวัฏ เป็นชีวิตที่เสี่ยงภัยมาก เพราะเมื่อเราเกิดมาแล้ว หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความดี เราอาจจะพลาดพลั้งไปทำบาปอกุศล เพราะขาดกัลยาณมิตรคอยชี้แนะ หนทางแห่งการสร้างความดี เมื่อละโลกไป แรงกรรมที่เรากระทำไว้ย่อมจะส่งผลให้เรามีโอกาสไปเกิดในอบายได้มาก
อบายภูมิ เป็นสถานที่สิงสถิตของชีวิตหลังความตายของปรโลกฝ่ายทุคติ เป็นดินแดนที่ปราศจาก ความสุข และเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน ทั้งจากความร้อนของไฟนรก และจากการทรมานของ นายนิรยบาล ที่มีวิธีการลงโทษหลากหลายไม่ซ้ำรูปแบบ ทำให้สัตว์นรกได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานสุดจะบรรยาย ชาวโลกทั้งหลายเมื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ประกอบกุศลกรรม ทำแต่อกุศลกรรมเป็นประจำ ครั้นเมื่อใกล้จะละโลก ภาพไม่ดีที่ตนได้กระทำไว้มาปรากฏให้เห็น ทำให้จิตของเขาเศร้าหมอง เมื่อละจากอัตภาพมนุษย์ ย่อมไปเกิดในอบาย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พาลบัณฑิตสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั่นแล ประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว เมื่อแตกกาย ทำลายขันธ์ ตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก"
จากพุทธภาษิตนี้ แสดงให้เห็นถึงการกระทำความชั่วของมนุษย์ ทั้งทางกาย วาจา ใจ มีผลต่อการไปสู่อบาย นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ที่น่าสนใจอยู่ 4 คำ กล่าวคือ อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซึ่งจะขอนำคำศัพท์เหล่านี้มาขยายความให้นักศึกษาได้เข้าใจมากขึ้นดังนี้
คำว่า อบายภูมิ หมายถึง สถานที่ที่สัตว์เกิดแล้วไม่มีโอกาสกระทำกุศลกรรม เพราะเป็นแดนที่ปราศจากความเจริญ เป็นแดนบาปที่ความสุขไม่สามารถเจริญงอกงามได้แม้เพียงนิดเดียว มีแต่ความทุกข์ล้วนๆ ทำให้ไม่สามารถสร้างกุศลได้
คำว่า ทุคติ คือ สถานที่ที่ต้องเสวยทุกข์อย่างเดียว และเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นมาเพราะกรรมชั่วร้ายของตนเองที่ทำไว้ครั้งเป็น มนุษย์ ที่มีโทษมาก
คำว่า วินิบาต เป็นภูมิของพวกสัตว์ผู้ทำชั่ว เมื่อตกไปที่ภูมินี้ จะเป็นผู้ไร้อำนาจวาสนา หรือหมายถึงเป็นสถานที่ที่พวกสัตว์ผู้กำลังพินาศ มีอวัยวะน้อยใหญ่แตกกระจัดกระจายน่ากลัวมาก
ส่วนคำว่า นิรยะ หรือ นรก เป็นสถานที่ที่ไม่มีความเจริญ เป็นดินแดนที่ไร้ความยินดี มีแต่ความน่าหวาดเสียว น่าสะพรึงกลัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อตกลงไปในนรกแล้ว ไม่มีสัตว์นรกตัวไหนอยากอยู่ในมหานรกนั้น
จากความหมายของศัพท์ที่กล่าวมาพอจะสรุปได้ว่า ศัพท์ทั้งหมดนั้นมีความหมายในลักษณะที่คล้ายคลึงกันคือ มุ่งไปในทางที่เสื่อม เป็นความทุกข์ทรมาน ไม่มีความเจริญ แต่ต่างกันในรายละเอียด ตามสภาพการเสวยสุข ทุกข์ เช่น สัตว์เดียรัจฉาน จัดอยู่ในอบายภูมิ 4 แต่มีสัตว์เดียรัจฉานบางประเภท เช่น ครุฑ นาค ไม่จัดเป็นทุคติภูมิ ไม่จัดเป็นวินิบาต เพราะไม่มีการถูกทำลายเหมือนเช่นสัตว์นรก และบางกลุ่มยังเสวยผลบุญอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา แต่ก็จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เดียรัจฉานเพราะไม่มีความเจริญ ไม่สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้
สรุปว่า อบายภูมินี้ เป็นสถานที่ชดใช้กรรมของมนุษย์ ที่ได้กระทำความชั่วไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่มีใครเลยที่จะหลีกเลี่ยงจากกฎแห่งกรรมนี้ไปได้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม
1. นิรยภูมิ หรือ นรก
นิรยภูมิ หรือ โลกนรก หมายถึง โลกที่ไม่มีความสุขสบาย เป็นปรโลกฝ่ายทุคติภูมิ ที่มีโทษแห่งการกระทำอกุศลหนักที่สุดในบรรดาอบายภูมิทั้งหลาย เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ล้วนๆ ปราศจากความสุขโดยสิ้นเชิง สัตว์ที่ไปเกิดอยู่ในโลกนรกนี้ไม่มีความสุขแม้สักนิดเดียว โลกนรกนี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ไพศาลมาก แบ่งเป็นเขตๆ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เรียกว่า "ขุม" สัตว์นรกที่บังเกิดขึ้นในแต่ละขุม จะได้รับทุกขเวทนาแตกต่างกัน แล้วแต่อกุศลกรรมที่ตัวเคยกระทำไว้ ในนิรยภูมินี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ มหานรก อุสสทนรก และยมโลก
นิรยภูมิ หรือ โลกนรกนี้ ท่านจะต้องศึกษาเป็นลำดับแรก ให้เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เห็นลักษณะการกระทำที่จะนำไปเกิดในนรกแต่ละขุม จะได้ระมัดระวังการกระทำของเราในปัจจุบัน ที่เสี่ยงต่อการพลัดตกลงไปอยู่ในนรกนั้น
1.1 มหานรก
เรื่องของมหานรกนั้น ชาวโลกส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน แม้ชาวพุทธเองก็ยังเข้าใจสับสนอยู่ เพราะเคยเห็นภาพตามฝาผนังอุโบสถตามวัดต่างๆ ในลักษณะของการปีนต้นงิ้วบ้าง การทรมานในกระทะทองแดงบ้าง หรือถูกเจ้าหน้าที่ในยมโลกลงทัณฑ์ในลักษณะต่างๆ บ้าง ซึ่งภาพที่เห็นส่วนใหญ่นั้น เป็นภาพของการลงโทษในยมโลกซึ่งเป็นนรกขุมย่อย จะเรียกว่า นรก อย่างที่เข้าใจกันในตอนต้นก็คงไม่ผิดนัก แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด และเป็นความเข้าใจที่ยังไม่สมบูรณ์
การกระทำของมนุษย์ที่จะทำให้เกิดในมหานรกนั้น เป็นลักษณะอกุศลกรรม ทั้งทางกาย วาจา และใจ ที่ทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ จนกระทั่งใกล้จะละโลก ภาพการกระทำชั่วเหล่านั้นมาปรากฏให้เห็น ทำให้คตินิมิตดำมืด แล้วถูกดูดเปลี่ยนภพไปยังมหานรกตามขุมต่างๆ ที่ตนกระทำอกุศลเป็นประจำ
ก. ความหมายของมหานรก
มหานรก แปลโดยพยัญชนะ หมายถึง นรกขุมใหญ่ เป็นนิรยภูมิที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และมีโทษหนักที่สุดตามลำดับขุม
ข. ที่ตั้งของมหานรก
ที่ตั้งของนรกไม่ได้อยู่ใต้ดินอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มหานรกนี้ ตั้งอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ ที่มีเขาตรีกูฏรองรับอยู่ มหานรกจะตั้งอยู่ใต้เขาตรีกูฏอีกชั้นหนึ่ง ตั้งซ้อนเรียงกันเป็นชั้นๆ ลงไปในอากาศ จากขุมที่ 1 ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุด ไปถึงขุมที่ 8 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด มหานรกนี้มีทั้งหมด 8 ขุม ดังนี้
มหานรก ขุมที่ 1 ชื่อ สัญชีวมหานรก
มหานรก ขุมที่ 2 ชื่อ กาฬสุตตมหานรก
มหานรก ขุมที่ 3 ชื่อ สังฆาฏมหานรก
มหานรก ขุมที่ 4 ชื่อ โรรุวมหานรก
มหานรก ขุมที่ 5 ชื่อ มหาโรรุวมหานรก
มหานรก ขุมที่ 6 ชื่อ ตาปนมหานรก
มหานรก ขุมที่ 7 ชื่อ มหาตาปนมหานรก
มหานรก ขุมที่ 8 ชื่อ อเวจีมหานรก
มหานรกทั้ง 8 ขุมนี้จะแจกแจ้งรายละเอียดให้ได้ศึกษากันในโอกาสต่อไป
ค. สภาพแวดล้อมในมหานรก
บรรยากาศโดยทั่วไปในมหานรก จะมีลักษณะร้อนๆ ทึมๆ มืดๆ ไฟในมหานรกจะมีสีดำมืด และมีความร้อนแรงมากกว่าไฟในอุสสทนรกและยมโลก ยิ่งไฟในเมืองมนุษย์ไม่อาจเทียบกับไฟในมหานรกได้ ซึ่งมีความร้อนแรงกว่าหลายโกฏิเท่า การทัณฑ์ทรมานสัตว์นรก จะมีนายนิรยบาลหรือเจ้าหน้าที่ในมหานรก ที่เกิดด้วยอำนาจบาปกรรมของสัตว์นรกนั้น คอยลงทัณฑ์สัตว์นรกด้วยอาการต่างๆ อย่างไม่มีวันหยุดพักผ่อน
ง. โทษของการกระทำที่นำไปเกิดในมหานรกขุมต่างๆ
ในนรกแต่ละขุมจะมีลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน หากถามว่าอะไรเป็นเกณฑ์ในการกำหนดว่า เมื่อทำกรรมแบบนี้แล้วจะไปอยู่ในนรกขุมไหน คำตอบ คือ การผิดศีล 5 การพนัน และการทำอนันตริยกรรม จะเป็นตัวกำหนดให้ไปบังเกิดในนรกแต่ละขุม ดังนี้
เกิดในนรกขุมที่ 1 เพราะผิดศีลข้อ 1 เกิดจากกรรมฆ่าสัตว์ เป็นประจำ
เกิดในนรกขุมที่ 2 เพราะผิดศีลข้อ 2 เกิดจากกรรมลักขโมย เป็นประจำ
เกิดในนรกขุมที่ 3 เพราะผิดศีลข้อ 3 เกิดจากกรรมประพฤติผิดในบุตร ภรรยา สามีของผู้อื่น
เกิดในนรกขุมที่ 4 เพราะผิดศีลข้อ 4 เกิดจากกรรมพูดโกหก พูดคำหยาบ พูดส่อเสียดให้แตกกัน พูดเพ้อเจ้อไร้สาระ
เกิดในนรกขุมที่ 5 เพราะผิดศีลข้อ 5 เกิดจากการดื่มสุราเมรัย เสพสิ่งเสพติด เป็นประจำ
เกิดในนรกขุมที่ 6 เพราะมัวเมาในอบายมุข เล่นการพนัน เป็นประจำ
เกิดในนรกขุมที่ 7 เพราะผิดศีลทั้ง 5 ข้อ และเล่นการพนัน เป็นประจำ
เกิดในนรกขุมที่ 8 เพราะทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำสงฆ์ให้แตกกัน และทำพระพุทธเจ้าให้ห้อพระโลหิต
ในความเป็นจริงแล้ว ในภพชาติหนึ่งๆ คนเราได้ทำกรรมมากมายหลายอย่าง ต่างกรรม ต่างวาระ ดังนั้นการพิจารณาว่าใครจะไปบังเกิดในมหานรกขุมใดนั้น จะดูที่การกระทำชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นหลัก หรือ เป็นอาจิณ เช่น คนที่จะเกิดในมหานรกขุม 5 ตอนเป็นมนุษย์จะต้องทำกรรมดื่มสุรา ยาเสพติด เป็นประจำ ในขณะเดียวกัน เขายังทำผิดศีลข้ออื่นด้วย สมมติว่า โดนทรมานด้วยโทษของกรรมสุรา 1 พุทธันดร เมื่อ กรรมสุราเบาบาง จะถูกทรมานด้วยกรรมอื่นๆ ต่ออีก เช่น ดื่มสุรา แล้วฆ่าสัตว์ ก็จะถูกกรอกน้ำกรด เพราะกรรมสุรา เมื่อกรรมสุราเบาบางแล้วจึงไปโดนนายนิรยบาลสับเป็นชิ้นจนตาย เพราะกรรมฆ่าสัตว์ เป็นต้น สถานที่ทรมานในช่วงที่กรรมอย่างอื่นเข้ามาผสม ก็จะอยู่ภายในขุมเดียวกัน ออกไปจากศูนย์กลางของภพ หรือไม่ก็ไปเกิดในนรกขุมอื่นเลย ซึ่งไม่แน่นอน แล้วแต่กรรมของสัตว์นรกที่ทำว่า หนัก เบา ต่างกรรม ต่างวาระกัน ซึ่งจะถูกสะสมเก็บไว้ในใจ เป็นผังสำเร็จ ถูกตั้งโปรแกรมให้เป็นไปตามอำนาจกรรมของตน
จ. ความทุกข์ในมหานรก
ความทุกข์เป็นของสากลที่ทุกคนต้องประสบ เพราะเรายังไม่หมดกิเลส แต่ถ้าหากเป็นความทุกข์ในมหานรกแล้ว เชื่อมั่นได้เลยว่า ไม่มีใครอยากสัมผัส เพราะที่ตรงนั้นจะไม่มีเวลาว่างเว้นจากการทัณฑ์ทรมานเลย เมื่อไปเกิดเป็นสัตวนรก วินาทีแรกที่ไปเกิดในมหานรก เหล่านายนิรยบาลที่เกิดด้วยอำนาจกรรม จะปรากฏกาย แล้วทำการลงโทษสัตว์นรกทันที โดยไม่มีการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เป็นสิ่งที่น่าขนพองสยองเกล้าเป็นที่สุด ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าให้กับเหล่าภิกษุฟังใน พาลบัณฑิตสูตร ว่า
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้น ประพฤติทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อเขาตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก สถานที่เหล่านี้ เป็นดินแดนที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ น่าพอใจอะไรเลย เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว แม้จะเปรียบเทียบอุปมาถึงความทุกข์ในนรก ก็มิใช่สิ่งที่จะทำได้โดยง่าย"
พระภิกษุรูปหนึ่งจึงทูลถามพระสัมมา สัมพุทธเจ้าว่า "พระองค์พอจะอุปมาความทุกข์ในนรก ให้ข้าพระองค์ทั้งหลายได้ทราบบ้างได้ไหม พระเจ้าข้า"
พระพุทธองค์ทรงรับ คำ แล้วอธิบายให้ฟังว่า "เปรียบเสมือนพวกราชบุรุษจับโจรมาได้ โจรนี้คิดร้ายต่อราชบัลลังก์ พอจับได้แล้ว ตอนเช้าก็นำมาให้พระราชาพร้อมกับกราบทูลถึงพฤติกรรมของโจรนั้นว่า โจรผู้นี้ คิดร้าย ก่อกบฏ ขอพระองค์ได้ทรงลงโทษตามพระราชหฤทัยเถิด พระราชาทรงรับสั่งว่า ให้เอาหอก 100 เล่ม แทงโจรนี้ให้ทั่วตัว พวกราชบุรุษก็ทำตามบัญชา พอถึงกลางวันพระราชาตรัสถามว่า โจรกบฏคนนั้นน่ะ ตายแล้วหรือยัง เมื่อได้รับคำตอบว่ายัง ก็รับสั่งให้เอาหอกมาแทงเพิ่มอีก 100 เล่ม พวกราชบุรุษก็ทำตาม พอตกเย็นยังไม่ตายอีก จึงให้เอาหอกไปแทงเพิ่มอีก 100 เล่ม รวมเป็น 300 เล่ม โจรก็ยังไม่ตายอยู่ดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โจรโดนหอกแทงมากถึง 300 เล่ม จะเจ็บปวดทรมานมากแค่ไหน"
พวกภิกษุกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพียงแค่หอกเล่มเดียว ก็เป็นทุกข์มากแล้ว จะกล่าวไปไยกับหอกถึง 300 เล่ม"
พระ บรมศาสดาตรัสต่อว่า "ความทุกข์จากการถูกหอกแทง 300 เล่ม เมื่อเทียบกับทุกข์ในมหานรกแล้ว เทียบกันไม่ได้เลย ทุกข์ในนรกเจ็บปวดทรมานมากกว่าเป็นร้อยเป็นพันเท่า ความทุกข์ของคนที่ถูกหอก 300 เล่มแทง มีปริมาณความเจ็บปวดเหมือนก้อนหินเล็กๆ ก้อนหนึ่ง แต่ทุกข์ในมหานรกมีปริมาณมากเหมือนเขาพระสุเมรุทีเดียว"
จากพระดำรัสนี้ เราจะเห็นได้ว่า การเสวยวิบากกรรมในนรกนั้น เป็นทุกข์ทรมานแสนสาหัสเพียงไร ทุกข์ในเมืองมนุษย์เทียบเท่าไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอย่ากระทำการใดๆ ที่เสี่ยงต่อการถูกทรมานในมหานรกนี้เลย
อ้างอิง
http://board.postjung.com/524768.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น