วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วินัยชาวพุทธ


หมวดหนึ่ง 
วางฐานชีวิตให้มั่น

            ชาวพุทธจะต้องดำเนินชีวิตที่ดีงาม และร่วมสร้างสรรค์สังคมให้เจริญมั่นคง ตามหลัก วินัยของคฤหัสถ์ (คิหิวินัย) ดังนี้

กฎ ๑ : เว้นชั่ว ๑๔ ประการ
ก. เว้นกรรมกิเลส (บาปกรรมที่ทำให้ชีวิตมัวหมอง) ๔ คือ
            ๑. ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิต (เว้นปาณาติบาติ)
            ๒. ไม่ลักทรัพย์ละเมิดกรรมสิทธิ์ (เว้นอทินนาทาน)
            ๓. ไม่ประพฤติผิดทางเพศ (เว้นกาเมสุมิจฉาจาร)
            ๔. ไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง (เว้นมุสาวาท)



ข. เว้นอคติ (ความลำเอียง/ประพฤติคลาดธรรม) ๔ คือ
            ๑. ไม่ลำเอียงเพราะชอบ (เว้นฉันทาคติ)
            ๒. ไม่ลำเอียงเพราะชัง (เว้นโทสาคติ)
            ๓. ไม่ลำเอียงเพราะขลาด (เว้นภยาคติ)
            ๔. ไม่ลำเอียงเพราะเขลา (เว้นโมหาคติ)

ค. เว้นอบายมุข (ช่องทางเสื่อมทรัพย์อับชีวิต) ๖ คือ
            ๑. ไม่เสพติดสุรายาเมา
            ๒. ไม่เอาแต่เที่ยวไม่รู้เวลา
            ๓. ไม่จ้องหาแต่รายการบันเทิง
            ๔. ไม่เหลิงไปหาการพนัน
            ๕. ไม่พัวพันมั่วสุมมิตรชั่ว
            ๖. ไม่มัวจมอยู่ในความเกียจคร้าน

กฎ ๒ : เตรียมทุนชีวิต ๒ ด้าน
ก. เลือกสรรคนที่จะเสวนา คบคนที่จะนำชีวิตไปในทางแห่งความเจริญและสร้างสรรค์ โดยหลีกเว้นมิตรเทียม คบหาแต่มิตรแท้ คือ

๑. รู้ทันมิตรเทียม คือ ศัตรูผู้มาในร่างมิตร (มิตรปฏิรูปก์) ๔ ประเภท
             ๑) คนปอกลอก มีแต่ขนเอาของเพื่อนไป มีลักษณะ ๔
                        (๑) คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
                        (๒) ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอาให้มาก
                        (๓) ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
                        (๔) คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

            ๒) คนดีแต่พูด มีลักษณะ ๔
                        (๑) ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย
                        (๒) ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย
                        (๓) สงเคราะห์ด้วยสิ่งที่หาประโยชน์มิได้
                        (๔) เมื่อเพื่อนมีกิจ อ้างแต่เหตุขัดข้อง

            ๓) คนหัวประจบ มีลักษณะ ๔
                        (๑) จะทำชั่วก็เออออ
                        (๒) จะทำดีก็เออออ
                        (๓) ต่อหน้าสรรเสริญ
                        (๔) ลักหลังนินทา

            ๔) คนชวนฉิบหาย มีลักษณะ ๔
                        (๑) คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
                        (๒) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
                        (๓) คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการเล่น
                        (๔) คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

๒. รู้ถึงมิตรแท้ หรือ มิตรด้วยใจจริง (สุหทมิตร) ๔ ประเภท
             ๑) มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔
                        (๑) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
                        (๒) เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
                        (๓) เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
                        (๔) มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

            ๒) มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔
                        (๑) บอกความลับแก่เพื่อน
                        (๒) รักษาความลับของเพื่อน
                        (๓) มีภัยอันตราย ไม่ละทิ้ง
                        (๔) แม้ชีวิตก็สละให้ได้

            ๓) มิตรแนะนำประโยชน์ มีลักษณะ ๔
                        (๑) จะทำชั่วเสียหาย คอยห้ามปรามไว้
                        (๒) แนะนำสนับสนุนให้ตั้งอยู่ในความดี
                        (๓) ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
                        (๔) บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

            ๔) มิตรมีใจรัก มีลักษณะ ๔
                        (๑) เพื่อนมีทุกข์ พลอยไม่สบายใจ (ทุกข์ ทุกข์ด้วย)
                        (๒) เพื่อนมีสุข พลอยแช่มชื่นยินดี (สุข สุขด้วย)
                        (๓) เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
                        (๔) เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

ข. จัดสรรทรัพย์ที่หามาได้ ด้วยสัมมาชีพ ดังนี้
            ขั้นที่ ๑ ขยันหมั่นทำงานเก็บออมทรัพย์ ดังผึ้งเก็บรวมน้ำหวานและเกสร
            ขั้นที่ ๒ เมื่อทรัพย์เก็บก่อขึ้นดังจอมปลวก พึงวางแผนใช้จ่าย
                        - ๑ ส่วน เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว ดูแลคนเกี่ยวข้อง ทำความดี
                        - ๒ ส่วน ใช้ทำหน้าที่การงานประกอบกิจการอาชีพ
                        - ๑ ส่วน เก็บไว้เป็นหลักประกันชีวิตและกิจการคราวจำเป็น


กฎ ๓ : รักษาความสัมพันธ์ ๖ ทิศ
ก. ทำทุกทิศให้เกษมสันต์ ปฏิบัติหน้าที่ต่อบุคคลที่สัมพันธ์กับตนให้ถูกต้องตามฐานะทั้ง ๖ คือ ทิศที่ ๑ ในฐานะที่เป็นบุตรธิดา พึงเคารพบิดามารดา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหน้า ดังนี้
            ๑. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
            ๒. ช่วยทำกิจธุระการงานของท่าน
            ๓. ดำรงวงศ์สกุล
            ๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
            ๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

บิดามารดาอนุเคราะห์บุตรธิดา ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. ห้ามปรามป้องกันจากความชั่ว
            ๒. ดูแลฝึกอบรมให้ตั้งอยู่ในความดี
            ๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
            ๔. เป็นธุระเมื่อถึงคราวจะมีคู่ครองที่สมควร
            ๕. มอบทรัพย์สมบัติให้เมื่อถึงโอกาส

ทิศที่ ๒ ในฐานะที่เป็นศิษย์ พึงแสดงความเคารพนับถือครูอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องขวา ดังนี้
            ๑. ลุกต้อนรับ แสดงความเคารพ
            ๒. เข้าไปหา เพื่อบำรุง รับใช้ ปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ เป็นต้น
            ๓. ฟังด้วยดี ฟังเป็น รู้จักฟังให้เกิดปัญญา
            ๔. ปรนนิบัติ ช่วยบริการ
            ๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ เอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ

อาจารย์อนุเคราะห์ศิษย์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. แนะนำฝึกอบรมให้เป็นคนดี
            ๒. สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
            ๓. สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
            ๔. ส่งเสริมยกย่องความดีงามความสามารถให้ปรากฏ
            ๕. สร้างเครื่องคุ้มภัยในสารทิศ คือ สอนฝึกศิษย์ให้ใช้วิชชาเลี้ยงชีพได้จริง และรู้จักดำรงตนด้วยดี ที่จะเป็นประกันให้ดำเนินชีวิตดีงามโดยสวัสดี มีความสุขความเจริญ

ทิศที่ ๓ ในฐานะที่เป็นสามี พึงให้เกียรติบำรุงภรรยา ผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องหลัง ดังนี้
            ๑. ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
            ๒. ไม่ดูหมิ่น
            ๓. ไม่นอกใจ
            ๔. มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้าน
            ๕. หาเครื่องแต่งตัวมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

ภรรยาอนุเคราะห์สามี ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
            ๒. สงเคราะห์ญาติมิตรทั้งสองฝ่ายด้วยดี
            ๓. ไม่นอกใจ
            ๔. รักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้
            ๕. ขยัน ช่างจัดช่างทำ เอางานทุกอย่าง

ทิศที่ ๔ ในฐานะที่เป็นมิตรสหาย พึงปฏิบัติต่อมิตรสหาย ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องซ้าย ดังนี้
            ๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
            ๒. พูดจามีน้ำใจ
            ๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
            ๔. มีตนเสมอ ร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
            ๕. ซื่อสัตย์จริงใจ

มิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาป้องกัน
            ๒. เมื่อเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สมบัติของเพื่อน
            ๓. ในคราวมีภัย เป็นที่พึ่งได้
            ๔. ไม่ละทิ้งในยามทุกข์ยาก
            ๕. นับถือตลอดถึงวงศ์ญาติของมิตร

ทิศที่ ๕ ในฐานที่เป็นนายจ้าง พึงบำรุงคนรับใช้ และคนงานผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องล่าง ดังนี้
            ๑. จัดงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลัง เพศ วัย ความสามารถ
            ๒. ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
            ๓. จัดสวัสดีการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
            ๔. มีอะไรได้พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
            ๕. ให้มีวันหยุด และพักผ่อนหย่อนใจ ตามโอกาสอันควร

คนรับใช้และคนงาน แสดงน้ำใจต่อนายงาน ดังนี้
            ๑. เริ่มทำงานก่อน
            ๒. เลิกงานทีหลัง
            ๓. เอาแต่ของที่นายให้
            ๔. ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
            ๕. นำความดีของนายงานและกิจการไปเผยแพร่

ทิศที่ ๖ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน พึงแสดงความเคารพนับถือต่อพระสงฆ์ ผู้เปรียบเสมือน ทิศเบื้องบน ดังนี้
            ๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา
            ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา
            ๓. จะคิดสิ่งใด ก็คิดด้วยเมตตา
            ๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ
            ๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย ๔

พระสงฆ์อนุเคราะห์คฤหัสถ์ ตามหลักปฏิบัติดังนี้
            ๑. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว
            ๒. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี
            ๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี
            ๔. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
            ๕. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
            ๖. บอกทางสวรรค์ สอนวิธีดำเนินชีวิตให้มีความสุขความเจริญ

ข. เกื้อกูลกันประสานสังคม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมสร้างสรรค์สังคมให้สงบสุขมั่นคงสามัคคีมีเอกภาพ ด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ
            ๑. ทาน เผื่อแผ่แบ่งปัน (ช่วยด้วยเงินด้วยของ)
            ๒. ปิยวาจา พูดอย่างรักกัน (ช่วยด้วยถ้อยคำ)
            ๓. อัตถจริยา ทำประโยชน์แก่เขา (ช่วยด้วยกำลังแรงงาน)
            ๔. สมานัตตตา เอาตัวเข้าสมาน (ช่วยด้วยร่วมสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสมอกันโดยธรรม และร่วมสุขร่วมทุกข์กัน)

อ้างอิง :  http://www.dhammajak.net/book/dhamma5/page01.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น