วันมาฆบูชา (บาลี: มาฆปูชา; อักษรโรมัน: Magha Puja) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย "มาฆบูชา" ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง
การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือน
๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม)
ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน
๓ หลัง (วันเพ็ญเดือน ๔)
วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศานาพุทธ
เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา
โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูปได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย,
พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖, และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ดังนั้น
จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ
วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔
เดิมนั้นไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน
๓ ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา
เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ
ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น การประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา
คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ
และมีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระอารามหลวงต่าง
ๆ เป็นต้น ในช่วงแรก พิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป
ต่อมา ความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
ปัจจุบัน
วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียนเป็นต้น
เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม
และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
ความสำคัญ
"วันมาฆบูชา"
เป็นวันที่ระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์แก่มหาสังฆสันนิบาตในมณฑลวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งในวันนั้นมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการคือ
๑.
พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่าง
ๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย
๒.
พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น
ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓.
พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา ๖ ข้อ
๔.
วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ
(วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ ๔ อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน
(๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช)
จาตุรงคสันนิบาต
กลุ่มป่าไผ่ร่มรื่น ในกลุ่มโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร สถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์
โดยพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ โดยมีคณะทั้ง ๔ คือ
คณะศิษย์ของชฎิล ๓ พี่น้อง คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ ๕๐๐ องค์)
คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ ๓๐๐ องค์) คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ ๒๐๐ องค์)
และคณะของพระอัครสาวกคือคณะพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ ๒๕๐ องค์) รวมนับจำนวนได้ ๑,๒๕๐ รูป
(จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล ๓ พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)
การเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันมาฆฤกษ์นี้
เป็นไปโดยมิได้มีการนัดหมาย และเป็นการเข้าประชุมของพระอรหันต์จำนวนมากเป็นมหาสังฆสันนิบาต
และประกอบด้วย "องค์ประกอบอัศจรรย์ ๔ ประการ" คือ
พระสงฆ์สาวกที่มาประชุมพร้อมกันทั้ง ๑,๒๕๐ องค์นั้น
ได้มาประชุมกันยังวัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมาย, พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดต่างล้วนเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"
คือเป็นพระสงฆ์ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง , พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา
๖ และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า
"วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ ดังกล่าวแล้ว
มีผู้เข้าใจผิดว่าเหตุที่พระสาวกทั้ง ๑,๒๕๐
รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน ๓ ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์
มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน แต่ความดิดนี้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
เพราะพระศิวะเป็นเทพที่ชาวฮินดูเริ่มบูชากันในยุคหลังพุทธกาล คือตั้งแต่ พ.ศ. ๘๐๐ เป็นต้นมา
ประทานโอวาทปาฏิโมกข์
พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว
จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น
เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ
ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย
พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง
ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้
- พระพุทธพจน์คาถาแรกทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท
อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ
พุทฺธา"
- พระพุทธพจน์คาถาที่สองทรงกล่าวถึง
"วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ"
คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี
และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง
ส่วนนี้เองของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ
ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น
- ส่วนพระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย
ทรงกล่าวถึงหลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ๖ ประการ คือ
การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย,
การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด
สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา (พุทธสังเวชนียสถาน)
พระพุทธรูปยืนกลางมณฑลมหาสังฆสันนิบาต
ในโบราณสถานวัดเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหารอินเดีย (เป็นพระพุทธรูปสร้างใหม่
ปัจจุบันเป็นสถานที่จาริกแสวงบุญสำคัญของชาวพุทธทั่วโลก)
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา
เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของ "กลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร"
ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาตอันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น
ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
วัดเวฬุวันมหาวิหาร
"วัดเวฬุวันมหาวิหาร" เป็นอาราม (วัด)
แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต
บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดีซึ่งมีตโปธาราม (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง
นอกเขตกำแพงเมืองเก่าราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือ แคว้นมคธ ชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล)
วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล
เดิมวัดเวฬุวันเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่นมีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก
เวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่า
"พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน" หรือ
"เวฬุวันกลันทกนิวาป" (สวนป่าไผ่สถานที่สำหรับให้เหยื่อแก่กระแต) พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานแห่งนี้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาหลังจากได้สดับพระธรรมเทศนาอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจจ์ ณ พระราชอุทยานลัฏฐิวัน (พระราชอุทยานสวนตาลหนุ่ม)
โดยในครั้งนั้นพระองค์ได้บรรลุพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
และหลังจากการถวายกลันทกนิวาปสถานไม่นาน
อารามแห่งนี้ก็ได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระสงฆ์ประชุมจาตุรงคสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา
อันเป็นเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา
จุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา (ลานจาตุรงคสันนิบาต)
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตจะเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่เกิดในบริเวณวัดเวฬุวันมหาวิหาร
แต่ทว่าไม่ปรากฏรายละเอียดในบันทึกของสมณทูตชาวจีนและในพระไตรปิฎกแต่อย่างใดว่าเหตุการณ์ใหญ่นี้เกิดขึ้น
ณ จุดใดของวัดเวฬุวัน
รวมทั้งจากการขุดค้นทางโบราณคดีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำเครื่องหมาย (เสาหิน)
หรือสถูประบุสถานที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาตไว้แต่อย่างใด
(ตามปกติแล้วบริเวณที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา มักจะพบสถูปโบราณหรือเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างหรือปักไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายสำคัญสำหรับผู้แสวงบุญ)
ทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทราบโดยแน่ชัดว่าเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตเกิดขึ้นในจุดใดของวัด
ในปัจจุบันกองโบราณคดีอินเดียได้แต่เพียงสันนิษฐานว่า
"เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในบริเวณลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป"
(โดยสันนิษฐานเอาจากเอกสารหลักฐานว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีพระสงฆ์ประชุมกันมากถึงสองพันกว่ารูป
และเกิดในช่วงที่พระพุทธองค์พึ่งได้ทรงรับถวายอารามแห่งนี้
การประชุมครั้งนั้นคงยังต้องนั่งประชุมกันตามลานในป่าไผ่
เนื่องจากเสนาสนะหรือโรงธรรมสภาขนาดใหญ่ยังคงไม่ได้สร้างขึ้น
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันลานด้านทิศตะวันตกของสระกลันทกนิวาป
เป็นลานกว้างลานเดียวในบริเวณวัดที่ไม่มีโบราณสถานอื่นตั้งอยู่)
โดยได้นำพระพุทธรูปยืนปางประทานพรไปประดิษฐานไว้บริเวณซุ้มเล็ก ๆ กลางลาน
และเรียกว่า "ลานจาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริงอยู่ในจุดใด
และยังคงมีชาวพุทธบางกลุ่มสร้างซุ้มพระพุทธรูปไว้ในบริเวณอื่นของวัดโดยเชื่อว่าจุดที่ตนสร้างนั้นเป็นลานจาตุรงคสันนิบาตที่แท้จริง
แต่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็เชื่อตามข้อสันนิษฐานของกองโบราณคดีอินเดียดังกล่าว
โดยนิยมนับถือกันว่าซุ้มพระพุทธรูปกลางลานนี้เป็นจุดสักการะของชาวไทยผู้มาแสวงบุญจุดสำคัญ
๑ ใน ๒ แห่งของเมืองราชคฤห์ (อีกจุดหนึ่งคือพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ)
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า
และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล
งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันมาฆบูชา
โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ
(โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน) ในเวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกา
โดยบทสวดมนต์ที่พระสงฆ์นิยมสวดในวันมาฆบูชาก่อนทำการเวียนเทียนนิยมสวด
(ทั้งบาลีและคำแปล) ตามลำดับดังนี้
๑.
บทบูชาพระรัตนตรัย
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อรหัง สัมมา ฯลฯ)
๒.
บทนมัสการนอบน้อมบูชาพระพุทธเจ้า
(นะโม ฯลฯ ๓ จบ)
๓.
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อิติปิโส ฯลฯ)
๔.
บทสรรเสริญพระพุทธคุณ
สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:องค์ใดพระสัมพุทธ ฯลฯ)
๕.
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สวากขาโต ฯลฯ)
๖.
บทสรรเสริญพระธรรมคุณ
สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:ธรรมมะคือ คุณากร ฯลฯ)
๗.
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:สุปฏิปันโน ฯลฯ)
๘.
บทสรรเสริญพระสังฆคุณ
สวดทำนองสรภัญญะ (บทสวดสรภัญญะที่ขึ้นต้นด้วย:สงฆ์ใดสาวกศาสดา ฯลฯ)
๙.
บทสวดบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา
(บทสวดบาลีที่ขึ้นต้นด้วย:อัชชายัง ฯลฯ)
จากนั้นจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ
แล้วเดินเวียนรอบปูชนียสถาน ๓ รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ
พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ ๓ รอบ
จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามปูชนียสถานจึงเป็นอันเสร็จพิธี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น