วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปฏิจจสมุปบาท แบบ "ฮัมเพลง" 2‏



ภิกษุทั้งหลาย !
นับตั้งแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ


ตลอดเวลาระหว่างนั้น
ตถาคตได้...
กล่าวสอน
พร่ำสอน
แสดงออก 

ซึ่งถ้อยคำใด
ถ้อยคำเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น
ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย 

อิติวุ. ขุ. ๒๕ / ๓๒๑ / ๒๙๓

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บทสวดมนต์ที่ดีที่สุด จึงถูกตีกรอบเฉพาะ พระธรรมที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้วเท่านั้น ซึ่งทั้งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกาที่เป็นสาวก ควรน้อมเข้ามาใส่ตน และควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

แต่ในปัจจุบัน หาหนังสือสวดมนต์เช่นว่านั้นได้ยากนัก บทสวดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือที่ผมได้รับ ไม่ต่ำกว่า 10 เล่มนั้น 95-99 % ไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาตรัสไว้ หากแต่เกลื่อนไปด้วย

บทสวด บทกรวดน้ำ บทแผ่เมตตา คำไหว้ คำบูชา คำอธิษฐาน คำอาราธนา และคาถาต่าง ๆซึ่งทั้งหมดที่ถูกยัดเยียดมาให้ เป็นแค่คำกล่าวของสาวก ที่พระศาสดาตรัสพยากรณ์แก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ภิกษุทั้งหลาย !
ฉันใดก็ฉันนั้น
ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย...

ส่วนสุตตันตะเหล่าใด
มีนักกวีแต่งขึ้นใหม่
เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน
มีอักษรสละสลวย
มีพยัญชนะอันวิจิตร
เป็นเรื่องนอกแนว
เป็นคำกล่าวของสาวก



เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่

เธอ...
จักฟังด้วยดีจักเงี่ยหูฟัง
จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง 
และ
จักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียนไป

ภิกษุทั้งหลาย !
ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้นที่...
เป็นคำของตถาคต
เป็นข้อความลึก
มีความหมายซึ้ง
เป็นชั้นโลกุตตระ
ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา

จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล

นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓

ซึ่งนั่นเป็นเหตุที่ทำให้ปัจจุบัน คำสอนของพระศาสดา ค่อย ๆ อันตรธานหายไปตามเหตุปัจจัย และ 2 ใน 4 มูลเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไปนั้น ก็เป็นไปตามพุทธวจนะที่พระศาสดาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย !
พวกภิกษุเล่าเรียนสูตร
อันถือกันมาผิด
ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด

เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว
แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้ มูลกรณีที่หนึ่ง ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป

ภิกษุทั้งหลาย !
อีกอย่างหนึ่ง
พวกภิกษุเหล่าใด
เป็นพหุสูต
คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจน
ทรงธรรม
ทรงวินัย
ทรงมาติกา
 (แม่บท)
ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่บอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่น ๆ

เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับดับไป
สูตรทั้งหลายก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก 
(อาจารย์) ไม่มีที่อาศัยสืบไป 

ภิกษุทั้งหลาย !
นี้ มูลกรณีที่สาม ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป

ภิกษุทั้งหลาย !
มูลเหตุ ๔ ประการเหล่านี้แล ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือนจนเสื่อมสูญไป

จตุกฺก. อํ. ๒๑/๑๙๗/๑๖๐
สอดคล้องกับนัยยะตรงกันข้ามที่พระศาสดาตรัสถึงหน้าที่ของภิกษุที่จะต้องไม่เติม ตัด แต่งในธรรมที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้วว่า

ภิกษุทั้งหลาย !
ภิกษุทั้งหลาย
จักไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ
จักไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว
จักสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด
 อยู่เพียงใด

ความเจริญก็เป็นสิ่งที่ภิกษุทั้งหลายหวังได้
ไม่มีความเสื่อมเลย อยู่เพียงนั้น

สตฺตก. อํ. ๒๓/๒๑/๒๑

ด้วยเหตุผลตามพุทธวจนะเพียงแค่นี้ หนังสือสวดมนต์ ทั้งหมดที่ผมได้รับมา จึงถูกวางไว้เฉย ๆ เป็นเวลาเกือบปีแล้ว โดยที่ผมไม่แยแสกับมันอีกต่อไป หลังจากที่เคยใช้เวลาท่องบ่นมา 2 ปี เห็นจะได้

นั่นเป็นเพราะ ความเลื่อมใสค่อย ๆ หยั่งลงมั่น ถึงขนาดที่ทำให้ค่าความหวั่นไหวในพระธรรมที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้วนั้น หยุดนิ่งอยู่ที่
จนวันหนึ่ง ได้มีโอกาสค้นพบ บทสวดมนต์ที่ดีที่สุดในโลก ที่ดีที่สุดในโลกก็เพราะพระศาสดาซึ่งเป็นผู้รู้แจ้งโลก (โลกวิทู) ทรงกล่าวธรรมปริยายนี้ ครั้งเสด็จประทับอยู่ในที่หลีกเร้นตามลำพังพระองค์ และเมื่อภิกษุรูปหนึ่งได้แอบเข้ามาฟัง พระองค์ทรงเหลือบไปเห็นจึงตรัสขึ้นว่า

ดูก่อนภิกษุ !
เธอได้ยินธรรมปริยายนี้แล้วหรือ?

ได้ยินแล้ว พระเจ้าข้า!

ดูก่อนภิกษุ !
เธอจงรับเอา (อุคฺคณฺหาหิ) ธรรมปริยายนี้ไป

ดูก่อนภิกษุ !
เธอจงเล่าเรียน (ปริยาปุณาหิ) ธรรมปริยายนี้

ดูก่อนภิกษุ !
เธอจงทรงไว้ (ธาเรหิ) ซึ่งธรรมปริยายนี้

ดูก่อนภิกษุ !
ธรรมปริยายนี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ 

สูตรที่ ๕ คหปติวรรค อภิสมยสังยุตต์ นิทาน.สํ.๑๖/๙๐/๑๖๘
สูตรที่ ๑๐ โยคักเขมิวรรค สฬายตนสังยุตต์ สฬา.สํ.๑๘/๑๑๓/๑๖๔

และบทสวดที่ได้รับเกียรติสูงสุดนี้ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งหาได้จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เรื่องปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์

แม้กระทั่งพระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศทางปัญญาก็ยังกล่าวยืนยันคำสอนของพระศาสดาแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

ก็แล คำนี้เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นชื่อว่า เห็นธรรม

ผู้ใดเห็นธรรม
ผู้นั้นชื่อว่า เห็นปฏิจจสมุปบาท

มหาหัตถิปโทปมสูตร มู.ม.๑๒/๓๕๙, ๓๖๐/๓๔๖

และพระศาสดาก็ตรัสยืนยันการเห็นธรรม คือ ปฏิจจสมุปบาท แก่วักกลิไว้ทำนองเดียวกัน

อย่าเลย วักกลิ !
ประโยชน์อะไร ด้วยการเห็นกายเน่านี้

ดูก่อนวักกลิ !
ผู้ใดเห็นธรรม

ผู้นั้นเห็นเรา

ผู้ใดเห็นเรา
ผู้นั้นเห็นธรรม

ดูก่อนวักกลิ !
เพราะว่า
เมื่อเห็นธรรมอยู่ ก็คือเห็นเรา
เมื่อเห็นเราอยู่ ก็คือเห็นธรรม

วักกลิสูตร เถรวรรค มัชฌิมปัณณาสก์ ขนฺธ. สํ.๑๗/๑๔๖-๗/๒๑๖

นั่นหมายความว่า พระศาสดาประเมินค่า ปฏิจจสมุปบาท เสมอ พระองค์เอง

และนอกจาก บทสวด ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งถือว่า ดีที่ดีที่สุดในโลก บทสวดอื่น ๆ ในฐานะพระธรรมที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว และปรากฏในงานเขียนชิ้นนี้ ก็มีคุณค่าเทียบเท่ากัน ด้วยเหตุผลธรรมดาสามัญ คือ ความเป็น อกาลิโก 

และความถูกต้อง ตรงจริง ไม่จำกัดกาล นี่แหละทำให้ การสาธยายบทสวดมนต์จากพระโอษฐ์มีคุณประโยชน์และอานิสงส์ ดังที่พระศาสดาตรัสไว้ในหลายประการด้วยกัน

ประการแรก เป็นอาหารของความเป็นพหูสูตร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ธรรม ๑๐ ประการเป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล

ซึ่งเป็นธรรมอัน
น่าปรารถนา
น่าใคร่
น่าชอบใจ
หาได้ยากในโลก 

คือ การกระทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล

ซึ่งเป็นธรรมอัน
น่าปรารถนา
น่าใคร่
น่าชอบใจ
หาได้ยากในโลก

ทสก. อํ. ๒๔/๑๒๐/๗๓

ประการที่สอง เป็นเหตุให้ละความง่วงได้

ดูก่อนโมคคัลลานะ !
เธอง่วงหรือ 

ดูก่อนโมคคัลลานะ !
เธอง่วงหรือ 

อย่างนั้น พระเจ้าข้า

ดูก่อนโมคคัลลานะ !
เพราะเหตุนั้นแหละ

เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้
เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้าเธอยังละไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงตรึกตรองพิจารณาถึงธรรมตามที่ตนได้
สดับแล้ว
เรียนมาแล้วด้วยใจ
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้

ถ้ายังละไม่ได้
แต่นั้นเธอพึงสาธยายธรรมตามที่ตนได้
สดับมาแล้ว
เรียนมาแล้ว โดยพิสดาร
ข้อนี้จะเป็นเหตุให้เธอละความง่วงนั้นได้


ดูก่อนโมคคัลลานะ !
เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล


สตฺตก. อํ. ๒๓/๗๓/๕๘

ประการที่ 3 ทำให้ไม่เป็นมลทิน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
มลทิน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นอย่างไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน ๑  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
มลทิน ๘ ประการนี้แล

อฎฺฐก.อํ.๒๓/๑๔๙/๑๐๕

ประการที่ 4
 
เป็นบริขารของจิต เพื่อความไม่มีเวร ความไม่เบียดเบียน

ดูก่อนมาณพ !
ธรรม ๕ ประการนี้
ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อ
ทำบุญ
ยินดีกุศล

เรากล่าวว่า
เป็นบริขารของจิต เพื่ออบรมจิตไม่ให้มี
เวร
ความเบียดเบียน

ดูก่อนมาณพ !
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มากด้วยการสาธยาย
เธอรู้สึกว่า เราเป็นผู้มากด้วยการสาธยาย 

ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม
ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม

ความปราโมทย์อันประกอบด้วยกุศลนี้

เรากล่าวว่า
เป็นบริขารของจิต เพื่ออบรมจิตไม่ให้มี
เวร
ความเบียดเบียน

ธรรม ๕ ประการนี้ ที่พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติเพื่อ
ทำบุญ
ยินดีกุศลนี้

เรากล่าวว่า
เป็นบริขารของจิตเพื่ออบรมจิตไม่ให้มี
เวร
ความเบียดเบียน


ม.มู. ๑๓/๕๐๐/๗๒๘

ประการที่ 5 เป็นเครื่องให้ถึงวิมุตติ 

ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงวิมุตติ (วิมุตฺตายตนํ) ห้าประการ เหล่านี้ มีอยู่

ซึ่งในธรรมนั้น เมื่อภิกษุ...
เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส
มีตนส่งไปแล้ว อยู่

จิตที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นรอบย่อมถึงซึ่งความสิ้นรอบ หรือว่า

เธอย่อมบรรลุตามลำดับ ซึ่งความเกษมจากโยคะอันไม่มีอื่นยิ่งกว่าที่ตนยังไม่บรรลุตามลำดับ

ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงวิมุตติห้าประการนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ห้าประการ คือ 

ภิกษุทั้งหลาย !
ข้ออื่นยังมีอีก

พระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจารีผู้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นครูรูปใดรูปหนึ่ง
ก็มิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ และ

เธอนั้นก็มิได้แสดงธรรมแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดารตามที่เธอได้ฟังมาได้เล่าเรียนมา

แต่ เธอกระทำการท่องบ่นซึ่งธรรมโดยพิสดารตามที่ตนฟังมาเล่าเรียนมาอยู่
เธอย่อมเป็น...

ผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งอรรถ
ผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งธรรม

ในธรรมนั้นตามที่เธอทำการท่องบ่นซึ่งธรรมโดยพิสดารตามที่ได้ฟังมาเล่าเรียนมาอย่างไร

เมื่อเป็น...
ผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งอรรถ
ผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งธรรม

ปราโมทย์ ย่อมเกิดขึ้นแก่เธอนั้น
เมื่อปราโมทย์แล้ว ปีติย่อมเกิด
เมื่อใจปีติ กายย่อมรำงับ

ผู้มีกายรำงับแล้ว ย่อมเสวยสุข 
(ด้วยนามกาย)
เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

 ภิกษุทั้งหลาย !
นี้คือ ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงวิมุตติ ข้อที่สาม


ซึ่งในธรรมนั้น เมื่อภิกษุ...
เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส
มีตนส่งไปแล้ว อยู่

จิตที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นรอบย่อมถึงซึ่งความสิ้นรอบ หรือว่า

เธอย่อมบรรลุตามลำดับ ซึ่งความเกษมจากโยคะอันไม่มีอื่นยิ่งกว่าที่ตนยังไม่บรรลุตามลำดับ (โดยแน่แท้)

ภิกษุทั้งหลาย !
ธรรมเป็นเครื่องเข้าถึงวิมุตติห้าประการเหล่านี้

ซึ่งในธรรมนั้น
เมื่อภิกษุ...
เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียรเผากิเลส
มีตนส่งไปแล้ว อยู่

จิตที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น
อาสวะที่ยังไม่สิ้นรอบย่อมถึงที่ซึ่งความสิ้นรอบ หรือว่า

เธอย่อมบรรลุตามลำดับ ซึ่งความเกษมจากโยคะอันไม่มีอื่นยิ่งกว่าที่ตนยังไม่บรรลุตามลำดับ ดังนี้แล

ปญฺจก. อํ. ๒๒/๒๒-๒๕/๒๖

และประการสุดท้าย เป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ธรรม ๕ ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ธรรม ๕ ประการเป็นอย่างไรเล่า 
คือ

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุทั้งหลายย่อมทำการสาธยายธรรม
ตามที่ได้ฟังมา
ตามที่ได้เล่าเรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร

นี้เป็นธรรมข้อที่ ๔
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย !
ธรรม ๕ ประการนี้แล
ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่ลบเลือนเสื่อมสูญแห่งสัทธรรม

ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๖๑/๑๕๕

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นการยืนยันด้วยคำสอนของพระศาสดาว่า

ธรรม(วินัย)จากพุทธโอษฐ์ เท่านั้น คือ บทสวดมนต์ที่ดีที่สุดในโลก 

ส่วน ธรรม(วินัย)จากปากของสาวก นั้นแม้จะเกิดขึ้นจากความปรารถนาดีของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่พยายามสร้างชุดคำสอน ต่าง ๆ ทั้ง อรรถกถาและคำกล่าว/คำสอนของสาวก ภายใต้สโลแกน ลัด สั้น เร็ว ง่าย ต่อการทำความเข้าใจของมหาชนทั้งหลาย นั่นก็เป็นเหตุผลเบื้องต้นที่น่ารับฟัง

แต่ทว่า ขบวนการเหล่านั้น เป็นการผลักไสให้คำสอนของพระศาสดาซึ่งเป็น อกาลิโก เสื่อม จางคลายและอันตรธานหายไปในความรับรู้ของเหล่าสาวกผู้ตามมาภายหลัง

จนเหลือสาวกผู้กล้าหาญเผยแผ่ธรรมที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว  ในฐานะ ความจริง แก่มหาชนน้อยลงทุก ๆ วันและหาได้ยากเต็มที

เพียงเพราะคำสอนของพระองค์ อาจจะไปขัดหรือแย้งกับศรัทธาดั้งเดิมที่มีต่อคำกล่าว/คำสอนของสาวกรุ่นหลังในฐานะครูบาอาจารย์

เพียงเพราะคำสอนของพระองค์ อาจจะไปขัดกับผลประโยชน์ของสาวกกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้า หรือ เพียงเพราะเหตุผลใด ๆ ก็แล้วแต่

นั่นก็ไม่มีคุณค่าเพียงพอที่จะอ้างเพื่อให้รับฟังเหตุผลดังกล่าวได้อีก เหตุผลนั้นจึงตกไป และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาผลิตซ้ำ เพื่อคัดง้างกับคำสอนของพระศาสดา

กล่าวอย่างสั้นที่สุด หากความปรารถนาดีของสาวกเหล่านั้น ขัดหรือแย้งกับพุทธประสงค์ คือ

อรรถกถา
คำกล่าว/คำสอนของสาวก 
มีบทพยัญชนะ ความหมายและนัยยะที่ใช้ผิดไปจาก

คำสอนของพระศาสดา
ธรรมวินัยจากพุทธโอษฐ์
 หรือ
พุทธวจนะ แล้ว

นั่นเป็นการสมควรหรือ ที่จะถือเอาชุดคำสอนเหล่านั้น นำหน้า คำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้ง ๆ ที่หาความเป็น อกาลิโกจากชุดคำสอนเหล่านั้นมิได้เลย หรือ ถ้าคิดว่าได้ สาวกคนไหนกล้าบันลือสีหนาทบ้าง เห็นจะยาก

ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะพระศาสดามิได้ทรงรับรองคำกล่าว/คำสอนของสาวกรุ่นหลังพุทธกาลไว้เลย

เพราะฉะนั้น หากสาวกคนไหนหวังความเจริญของศาสนา สิ่งที่จะต้องรีบเร่งทำก็คือ การเผยแผ่พุทธวจนะออกไป เพื่อการเล่าเรียนและปฏิบัติตามของทั้งตนเองและผู้อื่น

ในทางกลับกัน หากสาวกคนไหนพยายามเผยแผ่ อรรถกถา หรือคำกล่าว/คำสอนของสาวกออกไปในลักษณะใดก็ตาม เท่ากับว่า สาวกคนนั้นหวังความเสื่อมของศาสนา ใช่หรือไม่ นั่นก็ต้องปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

แต่ก่อนจะปล่อยให้มันล่วงเลยไปนานกว่านี้ หากนับระยะเวลาที่พระศาสดาเริ่มต้นเผยแผ่ศาสนา อีกปีกว่า ๆ ก็จะครบ 2600 ปีที่คำสอนของพระองค์ตั้งอยู่

จะปล่อยให้มันตั้งอยู่ในตู้พระไตรปิฎกต่อไปโดยไม่ใส่ใจพุทธประสงค์ หรือ เริ่มต้นเล่าเรียน ปฏิบัติตามและเผยแผ่พุทธวจนะ เพื่อเป็นพยานในคำสอนของพระศาสดา ในฐานะที่

พระธรรม...
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงได้เห็นด้วยตนเอง
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

นั่นก็ขึ้นอยู่กับค่าความหวั่นไหวในพระธรรมที่พระศาสดาตรัสไว้ดีแล้ว

หากค่าความหวั่นไหวเฉลี่ยของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่มีต่ออรรถกถาและคำกล่าว/คำสอนของสาวก เข้าใกล้ 100 % เร็วขึ้นเท่าไร ศาสนา คือ คำสอนของพระศาสดา ก็จะเสื่อมช้าลงเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น