วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อานิสงส์การสวดมหาปัฏฐาน

          คำว่า  "มหาปัฏฐาน" แปลว่า ปัจจัยมีประการต่างๆมากมาย ในการแสดงปัจจัย ๒๔ นั้น พระพุทธองค์ทรงจำแนกปัจจัยหนึ่งๆ มีธรรมเป็น ๓ หมวด คือ ปัจจัยธรรม หมายความว่า ธรรมที่เป็นเหตุ(ปัจจัย มีวจนัตถะว่า ผลธรรมย่อมเกิดขึ้นตั้งอยู่ได้เพราะอาศัยธรรมที่เป็นเหตุนี้ ธรรมที่เป็นเหตุนี้จึงชื่อว่า"ปัจจัย")
ปัจจยุปบันธรรม หมายความว่า ธรรมที่เป็นผล(ปัจจยุปบันธรรม มีวจนัตถะว่า ผลธรรมที่เกิดจากเหตุปัจจัย ชื่อว่า "ปัจจยุปบัน")
         ปัจจนิกธรรม หมายความว่า ธรรมที่มิใช่ผล (คือธรรมที่นอกจากผล)(ปัจจนิก มีวจนัตถะว่า หมวดธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อปัจจยุปบันธรรม ชื่อว่า"ปัจจนิก")
        มหาปัฏฐาน มีนัยยะกว้างขวาง มีนัยหาที่สุดมิได้มีอรรถอันสุขุมลุ่มลึกยิ่งกว่าพระสัทธรรมทั้งปวง อันมีในพระไตรปิฏกนับเป็นปกรณ์ใหญ่ เรียกว่า "มหาปกรณ์"เป็นปกรณ์ที่เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้แล้วนั้น  คัมภีร์มหาปัฏฐาน เป็น ๑ ใน ๗ คัมภีร์ที่พระพุทธองค์ทรงพิจารณาหลังจากที่ได้ตรัสรู้แล้ว ได้แก่ ๑. ธัมมสังคณี, ๒. วิภังคปกรณ์ ๓. ธาตุกถา ๔. ปุคคลบัญญัติ  ๕. กถาวัตถุ ๖. ยมกปกรณ์ และ ๗. มหาปัฏฐานเมื่อพระพุทธองค์พิจารณาคัมภีร์เหล่านั้นจนกระทั้งหยั่งลงสู่การพิจารณาคัมภีร์ที่ ๗ นี้ พระฉัพพรรณรังสี ๖  ประการก็ซ่านออกมาจากพระวรกายของพระองค์ ทั้งนี้ ก็เพราะเป็นคัมภีร์ที่กว้างขวาง มีอรรถรสลึกซึ้ง สุขุมคัมภีรภาพ มากกว่า๖ คัมภีร์ ที่พระองค์ทรงพิจารณามาและเป็นคัมภีร์เดียวเท่านั้นที่เหมาะสมแก่พระสัพพัญญุตญาณจึงทำให้เกิดความปิติในธรรมอยู่ตลอดเวลาพระรัศมีนี้มิใช่สำเร็จด้วยการอธิษฐานและมิใช่สำเร็จด้วยการภาวนาแต่ประการใดหากแต่สำเร็จมาจากการพิจารณาธรรมอันละเอียด สุขุม ลึกซึ้ง กว้างขวางนั่นเอง โดยเหตุนี้แหละ พระโลหิตจึงใส รูปวัตถุผ่องใสพระฉวีวรรณผ่องใส วรรณธาตุ (ธาตุ คือ รัศมี) มีจิตเป็นสมุฏฐานได้ตั้งอยู่ไม่หวั่นไหวในประเทศ ประมาณ ๘๐ ศอก โดยรอบ



         คำว่า "มหาสติปัฏฐาน" หมายถึง การตั้งสติอย่างใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสมหาสติปัฏฐานแก่พระภิกษุและชาวแคว้นกุรุรัฐ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ นิคม ชื่อกัมมาสทัมมะ* มีใจความสำคัญว่า
"ภิกษุทั้งหลาย หนทางสายเอกสายเดียวนี้คือ เอกายโน มคฺโค (เอกายนมัคค์) เป็นทางที่ทำให้สัตว์บริสุทธิ์ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อกำจัดทุกข์กายทุกข์ใจเพื่อให้เข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งด้วยการตั้งสติ 4 อย่าง"
         มีคำกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสมหาสติปัฏฐาน 4 แก่พระภิกษุ ภิกษุณี บาสก อุบาสิกา และปวงชนทั่วไปแห่งกุรุรัฐ ด้วยเหตุ 5 ประการ คือ
1. ผู้ฟังพระธรรมเทศนามีสุขภาพกายดี
2. เป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาดสามารถรับพระธรรมเทศนาที่มีอรรถะ ลึกซึ้งได้
3. เป็นผู้มีความเพียรสูง
4. มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ นับแต่คนรับใช้ไปจนถึงผู้ใช้แรงงาน
5. เรื่องที่สนทนากันก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ก็เจริญสติปัฏฐาน กล่าวหรือพูดกันถึงแต่เรื่องสติปัฏฐาน 4 ทั้งสิ้น
         ในกุรุรัฐนี้ มิใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่เจริญสติปัฏฐาน 4 แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานที่อาศัยมนุษย์ ก็เจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน มีตัวอย่าง นกแขกเต้าแสดงให้เห็นเป็นกรณีศึกษาดังนี้
         "มีนักรำท่านหนึ่ง เลี้ยงลูกนกแขกเต้าเอาไว้ แล้วฝึกให้พูดภาษามนุษย์ ไปไหนก็พาเอาไปด้วย คราวหนึ่ง นักรำท่านนี้ไปขออาศัยพักอยู่ ณ ที่อาศัยของนางภิกษุณีรูปหนึ่ง เวลาลาไป กลับลืมนกแขกเต้าตัวนั้นเสียสนิท สามเณรีจึงเลี้ยงนกแขกเต้าตัวนั้นไว้ ตั้งชื่อให้ว่า พุทธรักขิต นางภิกษุณีสอนให้นกพุทธรักขิตสาธยายคำว่า อัฐิ อัฐิ (กระดูก กระดูก) เป็นเนืองนิตย์ นกแขกเต้าพุทธรักขิตก็ปฏิบัติตามคำสอนของนางภิกษุณีรูปนั้นเป็นอันดี วันหนึ่งตอนเช้า ขณะที่นกพุทธรักขิตกำลังนั่งผิงแดดอ่อนอยู่ บนซุ้มประตู เหยี่ยวตัวหนึ่งมาโฉบเฉี่ยวเอาไป นกพุทธรักขิต ส่งเสียงร้องว่า กิริ กิริ พวกสามเณรีทั้งหลายได้ยินเข้าก็พากันช่วยนกพุทธรักขิตจนปลอดภัย นางภิกษุณีเถรีถามนกพุทธรักขิตว่า เวลาที่ถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปว่าคิดอย่างไร นกพุทธรักขิตตอบว่า มิได้คิดอื่นใด คิดถึงแต่เพียงว่า -- อย่างนี้ว่า 'กองกระดูกพากองกระดูกไป จะไปเรี่ยรายกลาดเกลื่อนอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ได้เท่านั้น พระเถรีให้สาธุการว่า สาธุ สาธุ พุทธรักขิตเจ้าคิดอย่างนั้น ก็จักเป็นปัจจัยแห่งความสิ้นภพ สิ้นชาติของเจ้าในอนาคต"
         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนให้ใช้หลักมหาสติปัฏฐาน 4 (การตั้งสติอย่างใหญ่) ซึ่งเป็นทางสายเอกและเป็นทางสายเดียว (เอกายนมัคค์) ที่จะทำให้สรรพเวไนยสัตว์บริสุทธิ์สะอาดปราศจากโรคจิต ล่วงพ้นเสียได้จากความโศก ความร่ำไร ความดับทุกข์ ความเสียใจ (โทมนัส) เพื่อบรรลุญายธรรม คือ ธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ธรรมที่ถูก คืออริยมรรค เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
         มหาสติปัฏฐาน 4 (Foundation of Mindfulness) คือ การตั้งสติอย่างใหญ่ กำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าสิ่งนั้น ๆ ว่ามันเป็นของมันเอง โดยธรรมชาติ โดยธรรมดา
         มหาสติปัฏฐานจำแนกออกไปได้ ดังนี้
         มหาสติปัฏฐาน 4 ส่วนย่อย
1. กายานุปัสสนา การตั้งสติพิจารณากาย แบ่งย่อยออกไปเป็น 6 ส่วน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขา)
1. อานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก
2. อิริยาบถ กำหนดให้รู้เท่าทันอิริยาบถ
3. สัมปชัญญะ ความรู้ตัวในการเคลื่อนไหวทุกอย่าง
4. ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบของร่างกาย (อวัยวะต่าง ๆ) ว่าเป็นของไม่สะอาด
5. ธาตุมนสิการ พิจารณาร่างกายของตนให้เห็นว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุแต่ละอย่าง ๆ
6. นวสีวถิกา พิจาณาซากศพในสภาพต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มตายใหม่ ๆ จนถึงกระดูกป่นเป็นผุยผง (อันแตกต่างกันใน 9 ระยะเวลา ท่านเรียกว่าป่าช้า 9) ให้เห็นว่าเป็นคติธรรม ร่างกายของผู้อื่น (ซากศพที่กำลังพิจารณา) เป็นเช่นใด ร่างกายของเราก็จักเป็นเช่นนั้น (รวมเป็น 6 ส่วน)
2. เวทนานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ
การรู้สึกอารมณ์ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียงเวทนา ... ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ๆ) 1) สุข 2) ทุกข์ 3) ไม่ทุกข์ไม่สุข 4) สุขประกอบด้วยอามิส 5) สุขไม่ประกอบด้วยอามิส 6) ทุกข์ประกอบด้วยอามิส 7) ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส 8) ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส 9) ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ประกอบด้วยอามิส (รวมเป็น 9 อย่าง)
3. จิตตานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ...) 1) จิตมีราคะ 2) จิตไม่มีราคะ 3) จิตมีโทสะ 4) จิตไม่มีโทสะ 5) จิตมีโมหะ 6) จิตไม่มีโมหะ 7) จิตหดหู่ 8) จิตฟุ้งซ่าน 9) จิตใหญ่ (จิตในฌาน) 10) จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน) 11) จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า 12) จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า 13) จิตตั้งมั่น 14) จิตไม่ตั้งมั่น 15) จิตหลุดพ้น 16) จิตไม่หลุดพ้น (รวม 16 อย่าง)
4. ธัมมานุปัสสนา (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ...) 1) พิจารณาธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุสมาธิ คือ นีวรณ์ 5 มี กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจะ และวิจิกิจฉา) เรียกว่า นี วรณบรรพ 2) ... ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เรียกว่า ขันธบรรพ 3) ... อายตนะภายใน 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เรียกว่า อายตนบรรพ 4) ... ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 คือ โพชฌงค์ 7 (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา) เรียกว่า โพชฌงคบรรพ
5) ตั้งสติกำหนดรู้ชัดธรรมทั้งหลายมีนีวรณ์ 5 (กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา) ขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ) อายตนะภายใน 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) อายตนะภายนอก 6 (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์) โพชฌงค์ 7 {สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ (ความสงบกาย-สงบใจ) สมาธิ อุเบกขา] และอริยสัจจ์ 4 ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญขึ้นและดับไปอย่างไร เป็นต้น ตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง อย่างนั้น ๆ (รวม 5 ส่วน)
         อานิสงส์ผลของการปฏิบัติมหาสติปัฏฐานทั้ง 4
         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสเทศนามหาสติปัฏฐานสูตรแล้ว ได้ตรัสถึงอานิสงส์คือ ผลการตั้งสติอย่างใหญ่นี้ว่า ผู้ปฏิบัติจะได้รับผล 2 ประการ ประการใดประการหนึ่ง คือ บรรลุพระอรหัตตผลในชาติปัจจุบัน หากยังมีอุปาทิคือสังโยชน์ 10 (เขียนสัญโญชน์ก็ได้) หรือ อนุสัย 7 (มีกามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ และอวิชชา) เหลืออยู่ จะได้เป็นพระอนาคามี (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก) คือ เป็นผู้จะได้บรรลุพระอรหัตตผล หรือพระอนาคามิผล ในชาตินี้เป็นแม่นมั่น ภายใน 7 ปี หรือลดลงไปจนถึงเพียง 7 วัน (7 ปี, 6 ปี, 5 ปี, 4 ปี. 2 ปี, 1 ปี; 7 เดือน, 6 เดือน, 4 เดือน, 3 เดือน, 2 เดือน, 1 เดือน, 15 วัน, (กึ่งเดือน) หรือ 7 วัน)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงถึงพฤติกรรมของจิตมนุษย์พร้อมวิธีแก้ไขพฤติกรรม
         ในหลักพระพุทธศาสนาได้จำแนกพฤติกรรมของจิต เรียกว่าจริต (ความประพฤติเป็นปกติ; พื้นฐานของจิต ที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง) ออกเป็น 6 ชนิด
         พฤติกรรมของจิต
1. ราคจริต (ผู้หนักไปทางรักสวยรักงาม)
2. โทสจริต (ผู้หนักไปทางใจร้อน หงุดหงิด โกรธง่ายคิดประทุษร้าย)
3. โมหจริต (ผู้หนักไปทางซึมเซา งมงาย)
4. สัทธาจริต (ผู้หนักไปทางเชื่อง่าย)
5. พุทธิจริต/ญาณจริต (ผู้ประพฤติหนักไปทาง การใช้ความคิดพินิจพิจารณา)
6. วิตกจริต (ผู้ประพฤติหนักไปทางคิดจับจด ฟุ้งซ่าน)
         วิธีการแก้ไข
1. อสุภะและกายคตาสติ (การพิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวยไม่งาม, การมีสติพิจารณาด้วยการเจริญกรรมฐาน)
2. เจริญกรรมฐานข้อธรรมคือ พรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) และกสิณ คือ วัณณกสิณ (กสิณสี คือการเพ่งสีเขียว เหลือง แดง ขาว)
3. เจริญกรรมฐานข้ออานาปานสติ (กำหนดลมหายใจเข้า-ออก การเรียน การฟัง การถาม การศึกษาหาความรู้ การสนทนาตามกาลกับครูอาจารย์)
4. การพิจารณาพุทธานุสสติ แนะนำให้เชื่ออย่างมีเหตุผล
5. การพิจารณาพระไตรลักษณ์ (อนิจจตา ทุกขตา อนัตตตา) การเจริญกรรมฐานข้อมรณสติ อุปมานุสติ จตุธาตุววัฎฐาน และอาหาเรปฏิกูลสัญญา
6. การสะกดอารมณ์ด้วยการใช้หลักอานาปานสติ หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น
(ขุ.ม. 29/727/435;889/555: ขุ.จุ. 30/492/244;/วิสุทธิ. 1/127)
         จริต 6 นี้ เนื่องในอกุศลมูล 31 คือรากเหง้าของความชั่ว บาปทั้งหลายทั้งปวง มีหลักธรรมสำหรับแก้จริตทั้ง 6 ดังได้เสนอผ่านมาแล้ว
         สติปัฏฐาน 4 เป็นทางเดียว เป็นทางบริสุทธิ์ที่ทำให้มนุษยชาติพ้นจากราคะ*/โลภะ โทสะ และโมหะ พ้นจากความโศก ความคร่ำครวญ กำจัดทุกข์กาย ทุกข์ใจ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ถูกต้อง ด้วยการทำพระนิพพานให้แจ้ง
         ได้โปรดศึกษาความพิสดารเรื่อง "สติปัฏฐาน 4" ได้ใน "สวดมนต์แปล" ของพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระศาสนโศภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม (หน้า 130-463) และ "พระไตรปิฎกฉบับประชาชน" ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ (หน้า 336-337), พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ (ฉบับภาษาบาลี) หน้า 325-351, หนังสือ "นวโกวาท" พระนิพนธ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส พิมพ์ครั้งที่ 74/2525 หน้า 34.


คัมภีร์มหาปัฏฐาน ชั้นมหาอภิธรรมิกเอก  (ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://board.palungjit.)

*******************************************************************
รวบรวม โดย พระอาจารย์ สุรชัย ปณฺฑิตธมฺโม
อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงณราชวิทยาลัย
******************************************************************
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
--------------------------------------------------------

๑. ปจฺจยุทฺเทส
เหตุปจฺจโย... อารมฺมณปจฺจโย... อธิปติปจฺจโย... อนนฺตรปจฺจโย
สมนนฺตรปจฺจโย... สหชาตปจฺจโย... อญฺญมญฺญปจฺจโย... นิสฺสยปจฺจโย 
อุปนิสฺสยปจฺจโย... ปุเรชาตปจฺจโย... ปจฺฉาชาตปจฺจโย... อาเสวนปจฺจโย 
กมฺมปจฺจโย... วิปากปจฺจโย... อาหารปจฺจโย... อินฺทฺริยปจฺจโย
ฌานปจฺจโย... มคฺคปจฺจโย... สมฺปยุตฺตปจฺจโย... วิปฺปยุตฺตปจฺจโย 
อตฺถิปจฺจโย... นตฺถิปจฺจโย... วิคตปจฺจโย... อวิคตปจฺจโย ติ.
ปจฺจยุทฺเทโส... นิฏฐิโยติ

พระบาลีและคำแปล 

เหตุปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นเหตุ
อารมฺมณปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นอารมณ์
อธิปติปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นอธิบดี
อนนฺตรปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความติดต่อกันไม่มีระหว่างคั่น
สมนนฺตรปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความติดต่อกันไม่มีระหว่างคั่นที่เดียว
สหชาตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเกิดพร้อมกัน
อญฺญมญฺญปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความแก่กันและกัน
นิสฺสยปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นที่อาศัย
อุปนิสฺสยปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นที่อาศัยที่มีกำลังมาก
ปุเรชาตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเกิดก่อน
ปจฺฉาชาตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเกิดทีหลัง
อาเสวนปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเสพบ่อยๆ
กมฺมปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความปรุงแต่งเพื่อให้กิจต่างๆสำเร็จลง
วิปากปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นวิบาก คือเข้าถึงความสุกและหมดกำลังลง
อาหารปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้นำ
อินฺทฺริยปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้ปกครอง
ฌานปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้เพ่งอารมณ์
มคฺคปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นหนทาง
สมฺปยุตฺตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้ประกอบ
วิปฺปยุตฺตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้ไม่ประกอบ
อตฺถิปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้ยังมีอยู่
นตฺถิปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้ไม่มี
วิคตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็นผู้ปราศจากไป
อวิคตปจฺจโย ธรรมที่ช่วยอุปการะ โดยความเป็น ผู้ยังไม่ปราศจากไป

 มหาปัฏฐาน เป็นคำภีร์ที่ยิ่งใหญ่ หรือประเสริฐยิ่ง เพราะเนื้อความมหาปัฏฐานนี้ ท่านแสดงถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในสากลโลก มหาปัฏฐาน จึงเป็นคัมภีร์ที่มีความสลับซับซ้อนสุขุมลุ่มลึก เพราะเต็มไปด้วยเหตุผล จึงเป็นของยากที่วิสัยของสามัญชนจะหยั่งรู้ให้แจ่มแจ้ง  ดังท่านอุปมาความกว้างขวางลึกซึ้งคำภีร์นี้ว่า เปรียบประดุจแม่น้ำมหาสาคร ๔ ประการ
๑. สังสารสาคร หมายความว่า ในมหาปัฏฐานนี้มีเนื้อความวนเวียนกว้างขวางที่สุด เหมือนความวนเวียนท่องเที่ยวไปของขันธ์ อายตนะ ธาตุ ไม่มีสิ้นสุดเพราะกำหนดเบื้องต้นและที่สุดมิได้
๒. นัยสาคร มีนัยมากมายพิสดารกว้างขวางที่สุด เพราะแจกธรรมเป็นอนันตนัยนับไม่ถ้วน  ด้วยพระสัญญุตญาณ
๓. ชลสาคร มีความสุขุมลุ่มลึกที่สุดเหมือนน้ำที่ไหลอยู่ในมหาสมุทร ใครๆไม่อาจวัดตวงได้ฉันนั้น
๔. ญาณสาคร เป็นเหตุให้บังเกิดความรู้กว้างขวางที่สุด เหมาะสมแก่พระสัพพัญญุตญาณ เพราะรู้เหตุผลของธรรมทั้งปวงอย่างละเอียดลึกซึ้งกว้างขวางที่สุด ที่เปรียบเหมือนปลาใหญ่มีตัวยาว ๑.๐๐๐ โยชน์ท่องเที่ยวอยู่ในมหาสมุทรลึก ๘๔.๐๐๐ โยชน์ได้โดยสะดวก
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาคัมภีร์นี้ได้เกิด ปิติร่าเริงในธรรมยิ่งกว่าคัมภีร์อื่นๆทั้งหมด เพราะพระองค์สามารถพิจารณาธรรมได้อย่างลึกซึ้งกว้างขวางที่สุด เหมาะสมแก่สัพพัญญุตญาณ เป็นเหตุให้เกิดฉัพพรรณรังสี ๖ ประการ มีสีเขียว ขาว แดง เหลือง ม่วง และสีเลื่อมพราย ซ่านออกจากพระวรกายของพระองค์  แผ่ไปถึงอัชฎากาศหาประมาณที่สุดมิได้

ลองพิจารณาดูว่าบุคคลที่ได้สาธยายมนต์บทนี้จะมีอานิสงส์มากมายขนาดไหน คนที่จะเข้าใจในบทสวดนี้ถ้าเรียนพระอภิธรรมเบื้องต้นมาก็พอจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น 
                                   ..............................................................................
(ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://art-culture.cmu.ac.th)
สัททาวิมาลาปเภทา (สททาวิมาลาบเภทา) ว่าด้วยเรื่องคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่
มีลักษณะเป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดหรือปกิณกะ มีลักษณะการแต่งเป็นร้อยแก้ว เนื้อเรื่องเริ่มด้วยบท
ปณามคาถา สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า ๑๐๘ แล้วจึงกล่าวถึงสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๔๐ ทัศ
คาถาพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ธรรมเนียมการสวดพระอภิธรรมงานศพ
มหาภูติ ๔ มหากัจจายนเถรเจ้า ตัวอักษรและเจตสิก ความเป็นมาของอักษร และ ๑๒ นักษัตรที่
กล่าวว่าปีเกิดของคน ๑๒ นักษัตรนั้นมีความเป็นมาอย่างไร คัมภีร์นี้นอกจะเป็นวรรณกรรมที่
รวมสาระเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ แล้ว ยังทำให้รู้ถึงธรรมเนียมประเพณีในการสวด
พระอภิธรรมว่า เมื่อตายวันอาทิตย์ให้สวดพระสังคิณี วันจันทร์ พระวิภังค์ วันอังคาร พระธาตุ
กถา วันพุธ พระปุคคลบัญญัติ วันพฤหัสบดี พระกถาวัตถุ วันศุกร์ พระยมก และตายวันเสาร์ให้
สวดพระมหาปัฏฐาน โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ตายพ้นจากบาป และผู้ที่เข้าร่วมฟังการสวด
พระอภิธรรมนั้นจะได้อานิสงส์เป็นอันมาก                                     
                                                    


1 ความคิดเห็น:

  1. กราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ในมหากุศลจิตทุกท่านค่ะที่ให้ความรู้ และจะขอสวดมหาปัฏฐานบทนี้ตราบจนชีวิตจะหาไม่เจ้าค่ะ
    🙏🙏🙏💚💜💛

    ตอบลบ