อ้างอิง เวป http://www.visalo.org/article/budSevana.htm
ตัดตอนมาเป็นบางส่วน
ภาคต่อมาก็คือว่าทรงเป็นอะไรกับพระองค์เอง
ในบทนี้อาจารย์พุทธทาสพูดถึงพระพุทธเจ้าว่าทรง "ฮัมเพลง"
อาจารย์พุทธทาสใช้คำที่สะดุดใจดี
คือมีคราวหนึ่งพระองค์อยู่คนเดียวในที่สงัดก็ทรงทบทวนเรื่องปฏิจจสมุปบาท
โดยทรงเปล่งเสียงเบา ๆ อาจารย์พุทธทาสก็เลยใช้คำว่าทรง "ฮัมเพลง"
แต่เป็นเพลงที่มีความหมายลึกซึ้งทางธรรมะ
ท่านบอกว่านี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระองค์ในบางแง่
มีตอนหนึ่ง อาจารย์พุทธทาสได้พูดถึงอาจารย์ของพระพุทธเจ้า
เรานึกออกไหมว่าใครเป็นอาจารย์ของพุทธเจ้า
เราเคยแต่ได้ยินว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยตัวพระองค์เอง ไม่มีอาจารย์
ที่จริงมี อาจารย์ของพระพุทธองค์มีชื่อว่า "คลำ"
อาจารย์คลำนี่คืออาจารย์ของพุทธเจ้า
หมายความว่าพระองค์ได้ลองผิดลองถูกด้วยพระองค์เอง คลำก็คืออย่างนี้
ทรงลองผิดลองถูกด้วยพระองค์เอง
การบำเพ็ญทุกข์กิริยาเป็นการลองผิดลองถูกอย่างหนึ่งของพระองค์
ซึ่งเป็นบทเรียนสอนใจเราด้วยว่า ขนาดพระพุทธเจ้านี่ก็พลาดมาแล้ว
ถลำไปในทางที่ผิดถึง ๖ ปี อุตส่าห์ไปกินขี้วัวขี้ควาย อดอาหาร ทรมานตน
นึกว่าจะบรรลุธรรม แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบผล จนต้องกลับมาหาทางสายกลาง
อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่พระองค์ได้สรุปบทเรียนจนกระทั่งบรรลุธรรมได้
ประเด็นที่สำคัญ ที่อาจารย์พุทธทาสท่านบอกก็คือว่า เอาเข้าจริง ๆ
แล้วพระพุทธองค์ไม่เป็นอะไรเลย ไม่ทรงเป็นอะไรเลย
เคยมีพราหมณ์มาถามว่าพระพุทธเจ้านี่เป็นใคร
เป็นเทวดาใช่ไหมเพราะว่าดูมีสง่าราศีมาก อากัปกิริยาก็งดงาม
พราหมณ์ถามว่าพระองค์เป็นเทวดาใช่ไหม? พระองค์ตอบว่า ไม่ใช่
พราหมณ์ถามว่าเป็นคนธรรพ์ใช่ไหม? พระองค์ก็ตอบปฏิเสธอีก เป็นยักษ์ใช่ไหม
? ไม่ใช่ เป็นมนุษย์ใช่ไหม? ก็ไม่ใช่อีก
พราหมณ์ถามว่าเป็นอะไรก็ไม่ใช่ทั้งนั้น ตกลงพระองค์เป็นอะไร
พระองค์ตรัสค่อนข้างยาว สรุปว่าทรงไม่เป็นอะไรเลย
เพราะกิเลสที่ทำให้เป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ หรือเป็นมนุษย์
พระองค์ก็ละได้หมดแล้วแต่สุดท้ายพระองค์ก็ตรัสว่าให้พราหมณ์ถือว่าพระองค์เป็น
"พุทธะ" ก็แล้วกัน อันนี้น่าสนใจมาก คือพระพุทธเจ้าไม่ทรงเป็นอะไรเลย
เพราะว่าทรงหมดความสำคัญมั่นหมายที่จะเป็นโน่นเป็นนี่แล้ว
คนเราแทบทุกคนมีความสำคัญมั่นหมายว่าตนเองเป็นนั่นเป็นนี่
เพราะสำคัญมั่นหมายเมื่อไหร่ภพชาติก็เกิดขึ้นมา
ตามมาด้วยชรามรณะและความทุกข์
คนที่ศึกษาปฏิจจสมุปบาทก็คงจะรู้ว่า เมื่อเกิดตัณหาอุปาทานแล้ว
ก็จะมีการปรุงแต่งต่อไปเป็นภพชาติ
แล้วภพชาตินี่ก็จะนำไปสู่ชรามรณะและความทุกข์
ประตูแห่งความทุกข์ก็คือภพชาติ
ชาตินี้ไม่ได้หมายความว่าเกิดจากท้องแม่เท่านั้น
ที่จริงทันทีที่เกิดจากท้องแม้ก็เป็นทุกข์ เช่น ร้องอุแว้ ๆ
แล้วยังเจอร้อนเจอหนาว อะไรต่าง ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น
แต่ว่าอาจารย์พุทธทาสอธิบายว่าชาติมีความหมายมากกว่าการเกิดจากท้องแม่
แต่ยังหมายถึงการเกิดในทางจิตวิญญาณคือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่า
ฉันเป็นโน่น ฉันเป็นนี่ ฉันเป็นแม่ ฉันเป็นพระ ฉันเป็นนักวิชาการ
ฉันเป็นนักกีฬา ความเป็นฉันมันเปลี่ยนไปเรื่อย
มาอยู่ตรงนี้ก็อาจจะรู้สึกว่า ฉันคือวิทยากร หรือฉันเป็นผู้ฟัง
พอไปเจอคนต่างชาติ ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้น
พอไปเจอเจอคนมุสลิม ความรู้สึกว่าฉันเป็นชาวพุทธก็เด่นขึ้นมา
พอกลับบ้านไปเจอแม่ ความรู้สึกว่า ฉันเป็นลูก ก็เกิดขึ้น
อันนี้คือความเกิดเป็นตัวเป็นตนหรือความสำคัญมั่นหมายในทางจิตวิญญาณที่เรียกว่าเป็นชาติ
แล้วเราไม่ได้แค่สำคัญมั่นหมายเฉย ๆ นะ เราไปยึดมั่นกับมันด้วย
เมื่อฉันเป็นลูกฉันต้องทำอย่างไร เมื่อฉันเป็นแม่ฉันต้องทำอย่างไร
เมื่อฉันเป็นคนไทยเจอฝรั่งฉันต้องยิ้มให้เพราะว่าคนไทยขึ้นชื่อในเรื่องยิ้มสยาม
ต้องเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ
พอรู้สึกว่าฉันเป็นพระก็ต้องมีกิริยาอีกแบบหนึ่ง
และอาจจะมีความคาดหวังจากญาติโยมว่า ต้องไหว้ฉันนะ ถ้าไม่ไหว้
ก็อาจจะไม่พอใจ
ความเป็นฉันนี่มันไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นลอย ๆ
แต่ว่ามันมีความสำคัญมั่นหมายยึดถือติดมาด้วย
ซึ่งตรงนี้มันเป็นตัวทำให้เกิดความทุกข์
แต่ว่าพระพุทธองค์ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าทรงเป็นอะไรเลย
เราอาจสงสัยว่าเป็นไปได้ยังไงนะ แต่ก็เป็นไปได้
เรื่องที่เล่ามาเป็นตัวอย่างที่ว่าพระองค์ไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรเลย
ใครมาถามว่าเป็นเทวดา เป็นคนธรรพ์ เป็นยักษ์ เป็นมนุษย์
พระองค์ก็บอกไม่ใช่ แต่ว่าถ้าจะไม่เป็นอะไรเลยนี่ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกยังไง
พระองค์ก็เลยบอกให้พราหมณ์เรียกพระองค์ว่า "พุทธะ" ก็แล้วกัน
คือชื่อนี่มันก็ต้องมีแต่ว่าขอให้เรียกกันเพื่อความสะดวก
เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารกัน
อันนี้ก็สรุปว่าพระองค์ไม่ทรงเป็นอะไรเลย คือไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไร
ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความเป็นอะไรด้วย
อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าคิดว่าคนเรามันจะมาถึงสภาวะนี้ได้ไหม
หรือว่าคนที่ไม่สำคัญมั่นหมายว่าเป็นอะไรนี่มีไหม
แต่พระพุทธเจ้าเป็นพระองค์หนึ่งซึ่งยืนยันว่าทรงเป็นอย่างนี้ได้
จะเรียกว่าพระองค์ทรงไปพ้นจากเรื่องอัตลักษณ์ก็ได้ เพราะว่าคำว่า
"ฉันเป็นโน่น ฉันเป็นนี่" อันนี้คืออัตลักษณ์หรือ identity
พระองค์ไม่ทรงยึดติดในอัตตลักษณ์ทั้งหลายเพราะมันเป็นเพียงแค่สมตติเท่านั้น
มิใช่ความจริงแท้หรือปรมัตถ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น