วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มิลินทปัญหา(๑)


(๑) อารัมภบท.
   ยังมีวงศวเรศกษัตริย์ทรงพระนามบัญญัติชื่อว่ากรุงมิลินท์ เป็นปิ่นมนุษย์ในสาคลราชธานีนคร พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้แล้วไต่ถาม ซึ่งปัญหาแก่พระนาคเสนนั้น มีอุปมาดุจกระแสน้ำในคงคาทั้ง ๕ ห้วง อันไหลล่วงเข้าสู่สมุทรสาครอันใหญ่ จะได้ไหลละหลั่งถั่งเทไปอื่นหามิได้ ถึงจะไหลมาอีกสักเท่าไร จะได้ล้นไปหามิได้ น้ำในคงคาเปรียบเหมือนพระบวรปรีชาของพระเจ้ามิลินท์ และพระมหาสมุทรนั้นเปรียบดังพระบวรปรีชาปัญญาของพระบวรเสนนี้
คัมภีรภาพลึกซึ้งไม่รู้สิ้นสุด เหมือนพระมหาสมุทรอันลึกและกว้างใหญ่ ถึงพระเจ้ามิลินท์จะถามปัญหาไปสักเท่าไรก็ไม่รู้จนไม่รู้สิ้นปัญญาถึงปัญหาจะคัมภีรภาพจะลึกซึ้งประการใด พระนาคเสนก็แก้ได้วิจิตรแจ้งไปด้วยอุปมาอุปไมยให้รุ่งเรืองสว่างสติปัญญา มีอุปมาดุจหนึ่งว่าอุกกาธารใต้และเทียนและคบเพลิงอันส่องแสงในที่มืดให้สว่างกระจ่างแจ้งไปในเพลาราตรีเมื่อแรมโรยรัศมีมีพระจันทร์ ข้อปุจฉาและวิสัชนากันแห่งท่านทั้งสอง ก็ต้องนัยและอรรถะ

อันมีในพระปริยัติไตรปิฎก ยกเอามาเป็นข้อ ๆ ถามแก้ซึ่งกันและกัน ฟังแล้วเป็นอัศจรรย์ไพเราะแก่โสต เป็นที่จะให้เกิดปราโมทย์ปรีดา โลมชาติชูชันบังเกิดขนพองสยองเกสาแห่งบุคคลอันมาได้ฟังในกาลครั้งนั้น เป็นคำระบือลือชาแห่งคนทั้งหลายโดยปริยายได้ฟังเล่ากันมาว่า เมืองสาคลนครราชธานีที่พระเจ้ามิลินท์เป็นปิ่นเฉลิมนั้นมีแม่น้ำและภูเขาล้อมรอบประกอบด้วยสวนอุทายและที่สนามน้ำและที่โบกขรณีสระศรีสาโรช อุโฆษกึกก้องด้วยเสียงนกร่ำร้องเที่ยวท่องโผผินบินไปมาในวนารามคือสวนต้นไม้
     อนึ่ง กรุงสาคลราชธานีนั้น หาภัยปัจจามิตรทีจะคิดทรยศประทุษร้ายรบราฆ่าฟันกันมิได้มี เหตุประกอบไปด้วยเขื่อนประตูคูค่าย หอรบเชิงเทินทั้งหลาย ล้อมรอบด้วยกำแพง มีกลอนทวารมั่นคง คนเฝ้าเล่าก็แน่นหนาหากรักษาเป็นอันดี อนึ่ง ในราชธานีประกอบด้วยวิถีถนนคนเดินเวียนแวะไปโดยรีและสกัดมิได้ขัดขวาง ถนนหนทรงราบรื่น แต่พื้นก่อด้วยหินศิลาแลงเป็นหนทางใหญ่ไปสี่แพร่ง สองข้างนั้นประกอบด้วยตลอดตั้งร้านรายเรียงไป ดูนี้สนุกนักหนา อนึ่งก็มั่งคั่งด้วยช้างม้ารี้พลเกลื่อนกล่นไปด้วยนรชาติหนุ่มและสาวหญิงชายดาษไปด้วยตระกูลทั้งหลายอเนกนานา คือ
ตระกูลกษัตริย์สุริยวงศา พ่อค้าชาวนาพราหมณ์คหบดีเศรษฐีเสวกามาตย์ ข้าราชาการ บ้านเรือนรั้วเวียงเคียงกันเป็นแถว ๆ ดูแล้วก็เห็นงาม ตั้งตึก รามเรียงกันไปเป็นชั้นเป็นขนัด และรั้ววังของกรุงกษัตริย์ก็แสนสำราญ ในพระราชฐานก็โอภาสไปด้วยพระมหาปราสาทราชนิเวศ รายเรียงกันสุดที่จะพรรณนา มีทั้งคลังผ้าคลังเงินคลังทองของต่าง ๆ รอบราย ภายนอก มีฉางข้าวฉางปลาฉางถั่วงาสารพัดถ้วนถี่ อนึ่งสาคลราชธานีสารพัดที่จะมีคือผ้ากาสิกพัสตร์อุทุมพาพัสตร์ผ้าโกไสยพัสตร์เงินทองแก้วแหวนอย่างดีเป็นที่ไปมาแห่งพาณิชทั้งหลายค้าขายอยู่อัตรา
และข้างนอกทุ่งนาก็บริบูรณ์ด้วยพืชข้าวกล้าปักหว่านไว้ดูสนุกนี่กระไร ดุจอุดรกุรุทวีปก็เหมือนกัน ถ้ามิฉะนั้นก็สนุกดุจอาลกมณฑาอุทยาน อันสถิตในสถานเทวโลก ก็มีในกาลครั้งนั้น


(๒) อดีตชาติ.
   ครั้งนั้นยังมีพระภิกษุองค์หนึ่งทรงศีลสังวร เวลารุ่งเช้าจับสัมมัชชนีคันยาวได้ก็คมนาการไปสู่สถานลานพระเจดีย์ ทำอัญชลีกรนมัสการแล้ว ก็ระลึกถึงพระพุทธคุณพลางกวาดลานพระเจดีย์พลาง ด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงกวาดหยากเยื่อนั้นมามั่วสุมไว้เป็นกอง ๆ แล้วก็ร้องเรียกสามเณรน้อยศิษย์ใช้สอยของอาตมา ให้ขนเอาหยากเยื่อไปทิ้งเสียจากกลายพระเจดีย์นอกบริเวณส่วนว่าสามเณรนั้นพานจะอยู่ข้างเกียจคร้าน พระอาจารย์เรียกถึง ๓ ครั้งก็นิ่งเฉยอยู่ ทำไม่ได้ยินพระภิกษุชีต้นจึงตีด้วยคันกราดแล้วด่าว่า ดูกรสามเณรใจกระด้างว่ายากสอนยาก ส่วนว่าสามเณรนั้นก็ร้องไห้วิ่งไปด้วยเร็วพลัน
ขนเอาหยากเยื่อนั้นไปเทเสียด้วยกลัวอาจารย์ แล้วก็ตั้งปณิธานความปรารถนาว่าข้าพเจ้าได้ขนหยากเยื่อมาให้พ้นลานพระเจดีย์ ขอผลบุญนี้แม้นข้าพเจ้าจะไปเกิดในภพใด ๆ ก็ดี ขอให้ข้าพเจ้านี้มีมเหศักดาเดช อันแกล้วกล้ามีครุวนาดุจแสงพระสุริโยทัยเมื่อเพลาตะวันเที่ยง ทุก ๆ ชาติไปกว่าจะสำเร็จแก่พระนิพพาน ตั้งปณิธานความปรารถนาฉะนี้แล้วก็ลงไปสรงน้ำชำระกาย ดำผุดดำว่ายค่อยสบายใจ แลเห็นลูกระลอกในท้องชลาลัยนี้มากมายนักหนา ก็ยินดีปรีดาจะใคร่มีปัญญาเฉลียวฉลาดไม่รู้สุดรู้สิ้น ดุจชลาสินธุ
ธาราระลอกนั้น สามเณรก็อภิวันท์ขึ้นเหนือเกศ ตั้งปณิธานปรารถนาอีกว่า เดชะที่ข้าพเจ้ากระทำตามคำพระชีต้น ท่านจะสงเคราะห์อาตมาให้ได้กองกุศลจึงบังคับอาตมา เดชะผลานิสงส์นี้ข้าพเจ้ายังไม่ได้พระนิพพานตราบข้าพเจ้าจะเกิดไปในชาติใด ๆ ขอให้ข้าพเจ้านี้มีปัญญาดุจหนึ่งว่ากระแสดลูกคลื่นลูกระลอกในกระแสชลาโลก ขออย่าให้ปัญญารู้สิ้นรู้สุดเลย ตราบเท่าข้าพเจ้าได้สำเร็จแก่พระนิพพานเถิด
    ฝ่ายว่าพระภิกษุที่เป็นอาจารย์เอากราดมาพาดไว้ยังที่ แล้วก็คมนาการไปสู่ตีนท่าเพื่อจะสรงซึ่งอุทกัง ได้ฟังสามเณรตั้งปณิธานความปรารถนาดังนั้น จึงมาดำริว่าความปรารถนาของสามเณรนี้จะสำเร็จดังใจคิด เหตุอาศัยอานุภาพพระพุทธคุณควรที่อาตมาจะปรารถนาบ้าง ดำริแล้วก็ยิ้มแย้มด้วยวิตกว่าสามเณรนี้ได้ปรารถนา ทั้งนี้ก็อาศัยแก่อาตมาใช้ พระภิกษุนั้นจึงยอกรนมัสการไหว้พระพุทะคุณแล้ว จึงตั้งปณิธานความปรารถนาว่าข้าพเจ้ายังมิได้สำเร็จแก่พระนิพพานตราบใด จะไปเกิดในภพอันใด ๆ ก็ดี สามเณรนี้ขอให้มีปัญญาเหมือนอุทกธาราระลอก
ในท้องนที ข้าพเจ้านี้จะขอให้มีปัญญาหาที่สุดมิได้ แม้สามเณรนี้ไปปะกนข้าพเจ้าในภพใด ๆ จะไต่ถามซึ่งอรรถปัญหา ถึงว่าจะมีอรรถอันลึกซึ้งคัมภีรภาพยากที่จะแก้ไขประการใดก็ดี ขอให้ข้าพเจ้าแก้ซึ่งปัญหาของสามเณรนี้ให้จงได้ มีครุวนาฉันใด ประดุจบุรุษอันมีปัญญาอันเจริญสางด้วยด้ายอันยุ่งให้รู้ว่าข้างปลายสางด้ายยุ่งออกได้ อย่าให้รู้จนในทางที่จะแก้ปัญหานี้เป็นอันขาด ด้วยอานิสงส์ที่ข้าพเจ้ากวาดและใช้สามเณรนี้ ให้เอาหยากเยื่อมาทิ้งเทเสียให้พ้นลานพระเจดีย์ในกาลครั้งนี้


(๓) กำเหนิดพระยามิลินท์
    แม้นอันว่าพระภิกษุกับสามเณรทั้งสองนั้น ท่องเที่ยวตายเกิดอยู่ในมนุษย์และสวรรค์ประมาณสิ้นพุทธันดรหนึ่ง ล่วงมาก็พอถึงพระพุทธุบาทศาสนาสมเด็จพระบรมนายกโลกนาถเจ้าของเรา เมื่อจะเข้าสู่พระนิพพานล่วงลับไป จึงตรัสพยากรณ์นิเทศทำนายไว้ว่า เมื่อศาสนาตถาคตล่วงไปได้ ๕๐ ปี จะมีพระภิกษุองค์หนึ่งมีนามชื่อว่าพระนาคเสนจะมาแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ จะแก้ไขซึ่งธรรมวินัยพระไตรปิฎกที่ตถาคตตรัสเทศนาไว้ โดยสุขุมคัมภีรภาพลึกล้ำฟั่นเฝืออยู่นั้น ให้กระจ่างแจ้งแจ่มใจรุ่งเรืองตั้งมั่นไปให้ถ้วน ๕ , ๐๐๐ พระวรรษาและเนื้อความนี้ก็วิสัชนามาแล้ว
   ครั้นศาสนาสมเด็จพระบรมครูเจ้าล่วงมาตามพุทธทำนาย ฝ่ายเจ้าสามเณรนั้นก็ได้มาเป็นบรมกษัตริย์ทรงพระนามบัญญัติ ชื่อว่า    สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชาชาวสาคลราชธานีมีปัญญาเฉลียดฉลาด เป็นนักปราชญ์ องอาจที่จะพิจารณาเหตุการณ์ อันเป็นอดีตอนาคตปัจจุบัน รู้สารพัดในพิธีที่จะประกอบการทั้งปวงและรู้ซึ่งศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการ และรู้ทั้งพระพุทธวจนะด้วยเป็น ๑๙ ประการ แลศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการนั้น คือสิ่งไรบ้าง อ้อ ศิลปศาสตร์ที่เป็นของสำหรับโลก ๑๘ ประการนั้น คือรู้จักภาษาเสียงสัตว์มีนกร้องเป็นต้นว่าร้ายดี ประการ ๑ รู้จักกำเนิดเขาและไม้เป็นต้นว่าชื่อนั้น ๆ ประการ ๑ รู้คัมภีร์เลขประการ ๑ รู้การที่จะเป็นช่างประการ ๑ รู้ที่จะเป็นครูสั่งสอนท้าวพระยาทั้งปวงประการ ๑ รู้คัมภีร์จะเลี้ยงฝูงชนให้เป็นสิริมงคลประการ ๑ รู้นับนักขัตกฤษ์ รู้ตำราดาวประการ ๑ รู้เพลงขับประการ ๑ รู้คัมภรีแพทย์ประการ ๑ รู้ศิลปศาสตร์ยิงธนูประการ ๑ รู้จักว่าที่นี้เป็นที่บ้านเก่าเมืองเก่าประการ ๑ รู้จักว่าทิศนั้นกินข้าวเป็นมงคลประการ ๑ รู้จักคัมภีร์พยากรณ์ รู้ทายว่าคนปีเดือนวันคืนอย่างนั้นจะดีแล้วร้ายประาร ๑ รู้ว่าเป็นแก้วนี่มิใช่แก้วประการ ๑ เหตุ คือรู้จักเหตุรู้จักผลจะบังเกิดประการ ๑ รู้จักที่จะเลี้ยงโคกระบือ รู้การที่จะหว่านพืชลงในนาไร่ให้เกิดผลประการ ๑ รู้คัมภีร์พิชัยสงครามประการ ๑ รู้คัมภีร์โลกโวหารประการ ๑รู้จักคัมภีร์ผูกบทกลอนพกาพย์โคลงประการ ๑ สิริเป็นศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการดังนี้
   อนึ่งเล่าสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี มีถ้อยคำสนทนาไพเราะดีนักหนาลือชาปรากฏไปในชนบทประเทศทุกถิ่นฐาน หาผู้จะต้านทานมิได้ ปรากฏว่าเป็นใหญ่กว่า เดียรถีย์นิครนถ์ชนทั้งปวงบรรดาอยู่ในชมพูทวีป หาผู้จะเสมอในทางที่จะแก้จะถามปัญหามิได้มี
   อนึ่ง พระองค์ประกอบไปด้วยองค์ ๓ ประการ คือ ประกอบไปด้วยปรีชาญาณประการ ๑ประกอบด้วยกำลังรี้พลพหลโยธานั้นประการ ๑ ประกอบด้วยโภไคศวริยสมบัติเป็นอันมากที่จะคณนานับมิได้ประการ ๑

(๔) สนทนาธรรม.
   อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระองค์มีจตุรงคเสนาพยุหะแวดล้อมแห่ห้อมซ้ายขวา เสด็จพระราชลีลาออกภายนอกพระนคร เพื่อจะประพาสภายนอกราชธานีให้เป็นที่สบายพระราชหฤทัย จึงให้หยุดพลนิกรจตุรงคเสนาลงไว้เสด็จประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่งอันเป็นที่สบายทอดพระเนตรดูท้องฟ้าเวหาฤกษ์บนเห็นพระสุริยนผ่องแผ้วเป็นฤกษ์ดีอยู่แล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสประภาษ เรียกมหาอำมาตย์เข้ามาที่หน้าฉาน มีพระราชโองการตรัสว่า ดูรานะอำมาตย์ เราจะด่วนยาตราเข้าไปในราชธานีทำไมเล่า เราจะสำราญเล่นให้เย็นสบาย ท่านทั้งหลายจงพินิจพิศดู ใครจะหยั่งรู้เห็นบ้างว่า สมณพราหมณาจารย์ พระอรหันตาขีณาสพผู้ใดที่จะรู้ธรรมปรีชาญาณ อันสามารถอาจจะตัดเสียซึ่งข้อกังขาของเราได้ในกาลบัดนี้เมื่อมีพระโองการถามดังนี้ ข้าราชการชาวโยนกทั้งห้าร้อยจึงทูลว่า ข้าแด่พระองค์ผู้ประเสริฐ มีอยู่แต่ครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสปคน ๑ มักขลิโคสาลคน ๑ นิคัณฐนาฏบุตรคน ๑ สัญชัยเวลัฏฐบุตรคน ๑ อชิตเกสกัมพลคน ๑ ปกุทธกัจจายนคน ๑ เป็น ๖ คนด้วยกัน ครูทั้ง ๖ นั้นไม่ชั่ว ล้วนแต่ตัวดีนักหนา เป็นครูบาอาจารย์ ประกอบด้วยปรีชาญาณ พร้อมด้วยบริวารยศปรากฏเป็นที่สักการบูชาแห่งมหาชน คนทั้งหลายย่อมนับถือระบือลือชา ข้าพระพุทธเจ้า
ทั้งปวงเห็นว่าจะแก้ไขข้อกังขาของพระองค์ได้ขอเชิญเสด็จไปยังสำนักครูโน้นเถิด

(๕) ปูรณกัสสปะแก้ปัญหา.
    สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงฟังข้าราชการกราบทูลดังนั้นก็ทรงราชรถมีข้าราชการห้าร้อยและรี้พลแวดล้อมเสด็จมายังสำนักครูปูรณกัสสป ปรารภที่จะถามปัญหา ถ้อยทีถ้อยสนทนาเป็นสุนทรกถา ควรที่จะชื่นชมโสมนัสแล้ว พระเจ้ามิลินท์จึงถามซึ่งปัญหาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้ากัสสป สิ่งไรที่เลี้ยงไว้ซึ่งสัตว์โลก ปูรณกัสสปจึงแก้ว่า ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร พระองค์ผู้ประเสริฐ แผ่นปถพีนี้แหละเลี้ยงไว้ซึ่งสัตว์โลก พระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสซักว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าสิว่ามหาปถพีเลี้ยงสัตว์โลก ทรงไว้รับไว้ซึ่งสัตว์โลก แล้วก็เหตุไฉนจึงให้สัตว์โลกไปตกนรกอเวจีมหาปถพีจึงไม่รับไว้ไม่ทรงไว้ นี้เป็นเหตุไฉน. ส่วนว่าท่านครูปูรณกัสสปก็จนใจไม่รู้ที่จะแก้ไข ก็นั่งนิ่งอยู่ในสถานที่นั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น