วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มิลินทปัญหา(๓)


(๑๕) นาคเสนออกบวช.
   อันดับนั้น นาคเสนทารกได้สวนาการฟัง วจนํ ซึ่งถ้อยคำพระโรหณเถระผู้มีอายุ จึงกระทำเป็นไม่กินข้างปลาหน้าตาโศกเศร้า เฝ้าวิงวอนจะให้บิดามารดาอนุญาตให้บรรพชา ฝ่ายว่าบิดามารดาก็มาคิดว่า กุมารลูกของเรานี้จะไปเรียนความรู้วิชาเรียนได้แล้วก็จะกลับมา ไม่ควรที่จะห้ามไว้ จึงให้อนุญาตว่าอย่าทุกข์อย่าโศกไปเลย จงกินข้าวปลาอาหาร จะไปเรียนความรู้วิชาการก็ตามใจ ส่วนนาคเสนกุมารได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมอภิรมย์หรรษาบริโภคโภชนาหารแล้วก็ลาบิดามาราดไปด้วยพระโรหณะ พระโรหณะก็พานาคเสนกุมารไปสู่วัตตนิยเสนาสนะ แล้วก็ไปสู่วิชัมพุวัตถุเสนาสนะจะแก้ไขด้วยเสนาสนะที่อยู่อันชื่อว่าวัตตนิยะและวิชัมพุวัตถุให้แจ้งชัดวัตตนิยะนั้นแปลว่าประเทศควรแก่จะอยู่กระทำปรนนิบัติสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน วิชัมพุวัตถุเสนาสนะนั้น แปลว่าเสนาสนะที่อยู่อันปราศจากลามกมลทินสะอาดผ่องแผ้วนี้แลพระโรหณะยับยั้งอยู่ที่นั้นคืนหนึ่งแล้ว ก็พาเจ้าาคเสนกุมารอันครธานหาไปปรากฏที่ถ้ำรักขิตเลณะ ตรงหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิอันลงโทษพรหมทัณฑ์แก่อาตมา


(๑๖) บรรพชา
    ในกาลปางนั้น พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย มากมายกำหนดได้ ๑๐๐ โกฏิ ก็ยังเจ้านาคเสนกุมารนั้นให้บวชเป็นสามเณรที่ถ้ำคูหาอันชื่อรักขิตเลณะ เมื่อเจ้านาคเสนบวชเป็นสามเณรแล้ว จึงมีวาจาว่ากับพระโรหณะว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้ากระทำเพศให้เหมือนพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจงบอกศิลปศาสตร์ให้ข้าพเจ้า ส่วนว่าพระโรหณะจึงจินตนาคำนึงรำพึงว่า เจ้าสามเณรนาคเสนมีปัญญาฉลาด อาตมาจะบอกให้เรียนพระสูตรพระวินัย พระสูตรพระวินัยตื้นไม่ลึกล้ำเหมือนพระปรมัตถธรรมจำอาตมาจะบอกพระอภิธรรมให้เถิด ดำริแล้วก็บอกพระอภิธัมมัตถะอันประเสริฐให้ทั้ง ๗ พระคัมภีร์ คือ พระสังคณี ๑ พระวิภังค์ ๑ พระธาตุกถา ๑ พระปุคคลบัญญัติ ๑ พระกถาวัตถุ ๑ พระยมก ๑ พระสมันตมหาปัฏฐาน ๑ ประสมเป็น ๗ ประคัมภีร์ด้วยกัน นาคเสนาสามเณรนั้นมีปัญญาจักษุเห็นปรุโปร่งไม่กังขา แต่บอกให้วาระเดียว ในพระสัตตัปปกรณาภิธรรมทั้ง ๗คัมภีร์ว่า สมเด็จพระชินสีห์เจ้าตรัสเทศนาอาศัยแก่ ๓ บท แตกออกไปเป็นสัตตัปปกรณาภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ ประการหนึ่งพระอภิธัมมสังคณีตั้งเป็นต้น ประดับประดาไปด้วยทุกมาติกาและติกมาติกาเท่านี้แล ในคัมภีร์พระวิภังค์นั้นประดับด้วยอัฏฐารสวิภังค์มีขันธวิภังค์เป็นต้นเป็นประธานมา ในคัมภีร์พระธาตุกถานั้น มีวิภัติแจกจำแนกไปได้ ๑๔ บทเป็นต้นว่า นี้ และในคัมภีร์พระปุคคลบัญญัติ มีวิภัติจำแนกเป็นฉัพพิธบท ๖ บทมีขันธบัญญัติและอายตนบัญญัติเป็นประธานมา และในคัมภีร์พระกถาวัตถุนั้น ประชุมสูตรไว้พันหนึ่งมิได้น้อย เป็นสักวาทีห้าร้อย เป็นปรวาทีห้าร้อย จึงสิริเป็นพันหนึ่งด้วยกันในคัมภีร์พระยมกนั้นวิภัชนากรจำแนกแจกเป็นทศพิธบทได้ ๑๐ บท มีมูลยมกและขันธยมกเป็นประธานมา ในคัมภีร์พระสมันตมหาปัฏฐานนั้น วิภัชนาการจำแนกแจกไปเป็นจตุวีสติปัจจัยได้ ๒๔ มี เป็นประธานดังนี้ สิริเป็นพระสัตติปปกรณาภิธรรมทั้ง ๗พระคัมภีร์ด้วยกัน นาคเสนสามเณรนั้นเล่าหนเดียวก็จำได้ขึ้นใจ จึงมีวาจาห้ามพระโรหณะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ไว้ว่า ได้โปรดงดข้าพเจ้า บอกแต่เท่านี้ก่อนเถิด เมื่อข้าพเจ้าท่องได้สังวัธยายได้ถนัดจริงแล้ว จงบอกให้มากยิ่งขึ้นไป จะขอรออยู่ปรนนิบัติสอดส่องให้ชัดเจน ว่าแล้วนาคเสนาสามเณรก็ลาพระอาจารย์ปวิสนาการเข้ามณฑลมาลกะแปลว่าศาลาสนามธรรม จึงจำเริญมนสิการในใจว่า ดังอาตมารำพึงไปแล้วจริง จะได้อรรถแปลว่ากระไร ในบทว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา และ อพฺายากตา ธมฺมา นาคเสนสามเณรจำเริญมนสิการพิจารณาหนเดียวก็คิดเห็นเป็นอรรถกรรมฐานว่า บท กุสลา ธมฺมา จะมีอรรถกถาอย่างนี้ ด้วยปัญญาบารมีกระทำไว้แต่ชาติโพ้น

(๑๗) จบพระอภิธรรม.
   พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิสถิต ณ ด้าวแดนใด นาคเสนสามเณรก็เข้าไปในสถานที่นั้นครั้นถึงจึงอภิวันท์ไหว้ ดูนี่งามผ่องใสไปทั่วอินทรีย์ อายุพอได้ ๗ ปีเป็นเณรน้อยกระจ้อยร่อยรูปงามประฌมกรประณามนบนอบเหนือศิโรตม์ จึงบอกพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิว่า ข้าพเจ้าจะสำแดงพระสัตตัปปกรณาภิธรรมที่พระอุปัชฌาย์บอกนี้ให้มีอรรถวิตถารออกไป พระอรหันต์ทั้งหลายก็ดีใจ จึงนิมนต์ให้สามเณรนาคเสนสำแดงโดยวิตถาร สามเณร นาคเสนก็วิสัชนาอยู่ประมาณ ๗ เดือนจึงจบ ขณะนั้นเกิดอัศจรรย์ทั่วพิภพ อินทร์พรหมบรมเทวราช ก็หวาดไหวไปทั่วปถพี ที่ก้องบันลือลั่น ฝ่ายฝูงอมรคณานิกรสุรางค์ นางเทพอัปสรสาวสวรรค์ในชั้นฉกามาวจร ก็ร้องซ้องสาธุการยินดีด้วยปัญญาบารมีสามเณร ใช่แต่เท่านั้น ท่านท้าวมหาพรหมเป็นบรมจอมพิภพก็ตบพระหัตถ์ตรัสสรรเสริญศีลปัญญาคุณ อันว่าห่าฝนปุบผามณฑาทิพยจันทน์จุณสารภียี่สุ่นพิกุลโยทะกามหาหงส์ ทรงกลิ่นอันหอมนั้น บ้างก็เลื่อนลอยบ้างก็ปรอย ๆ เป็นฝอยฝนตกลงมาเหมือน หนึ่งจะมีวิญญาณลงมาสาธุการ บ้างบานบ้างตูมหุ้มห่มเกสร หอมฟุ้งขจรขจายในที่พระนาคเสนสามเณรสังวัธยายพระสัตตัปปกรณาภิธรรม ๗ คัมภีร์จบโดยวิตถารพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ท่านก็ซ้องสาธุการชื่นบานหรรษาโสมนัสยินดี ว่าแต่นี้แลศาสนาของสมเด็จพระโลกนายกเจ้า จะรุ่งโรจน์โชตนาการไปในกาลนี้

(๑๘) อุปสมบท.
     ลำดับนั้นครั้นเจ้านาคเสนสามเณรอยู่มามีพระวรรษายี่สิบถ้วยกำหนด พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ ก็ให้อุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพระศาสนา ครั้นนาคเสนาสามเณรเป็นภิกษุภาวะแล้ว นิมิตรุ่งรางสว่างแผ้วอรุณขึ้นมา พระผู้เป็นเจ้านุ่งสบงทรงจีวร พระกรจับบาตรลีลาศตามพระอุปัชฌาย์ เข้าไปสู่บ้านเพื่อจะเที่ยวภิกขาจารโคจรบิณฑบาต พระนาคเสนจึงปริวิตกว่า พระอุปัชฌาย์ของอาตมานี้ เปล่าเขลานักหนา รู้แต่พระสัตตัปปรณาภิธรรมเท่านี้ จะได้รู้พระคาถาบาลีพระพุทธวจนะอื่น ๆ หามิได้ ส่วนพระโรหณะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ก็รู้วาระน้ำในจึงมีเถรวาจา ว่าดูกรอาวุโส ท่านวิตกดังนี้มิควรแก่ตัวท่าน มิควรแก่ตัวเรา
     ฝ่ายพระนาคเสนได้ฟังดังนั้น ก็ดำริว่า โอหนอ ควรจะเป็นอัศจรรย์ เมื่ออาตมาคิดในใจไฉนเล่าพระอุปัชฌาย์เจ้าจึงรู้จิตของอาตมา พระอุปัชฌาย์ของอาตมามีปัญญาแท้จริง ก็ควรที่จะให้พระอุปัชฌาย์งดโทษ คิดแล้วจึงน้อมศิโรตม์ลงอภิวันท์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดจงงดโทษแก่ข้าพเจ้า แต่นี้ไปเบื้องหน้าข้าพเจ้ามิได้วิตกต่อไป พระโรหณะจึงว่าเรายังงดโทษให้ไม่ได้ก่อน ยังมีกษัตริย์เจ้าเมืองสาคลนครทรงพระนามกรชื่อว่ามิลินทบรมราช ถ้าท่านยังพระยามิลินท์นั้นให้เธอทรงพระประสาทเลื่อมใสด้วยท่านได้เมื่อใด อาตมาก็จะงดโทษให้ท่านในกาลเมื่อนั้นพระนาคเสนจึงว่า ข้าแต่พระอุปัชฌาย์ อย่าว่าแต่พระเจ้ามิลินท์เลย ถึงว่าพระยาทั้งหลายอันเสวยสมบัติอยู่ในสกลชมพูทวีป ให้รีบกันซ้อนศีรษะซ้อนตัวกันมาถามปัญหาเถิดข้าพเจ้าก็อาจสามารถที่จะให้ยินดีได้ พระผู้เป็นเจ้าจงงดโทษแก่ข้าพเจ้าเถิด พระโรหณะจึงว่า ท่านอย่าว่าอย่างนี้ เราจะว่ากับท่านอีกทีเป็นคำรบสองครั้ง ถ้าท่านยังกรุงมิลินทราธิบดีให้เลื่อมใสได้แล้วเมื่อใด อาตมาก็จะงดโทษให้เมื่อนั้น

(๑๙) รับคำพระอุปัชฌาย์.
 
    ส่วนพระนาคเสนครั้นพระอุปัชฌาย์ว่ากระนั้น ก็รับคำพระอุปัชฌาย์แล้วจึงถามว่า ในไตรมาสนี้พระอุปัชฌาย์จะให้ข้าพเจ้าอยู่ที่สำนักพระอุปัชฌาย์นี้หรือ หรือว่าจะให้ข้าพเจ้าไปอยู่ในสำนักผู้ใดเล่า ส่วนพระโรหณะผู้เป็นเจ้าจึงว่า ดูกรอาวุโส ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง มีนามกรชื่อ อัสสคุตท่านอยู่ที่วัตตนิยะเสนาสนะ อาวุโสจงไปไหว้นบเคารพท่านแล้ว บอกว่าอาตมานี้เป็นอุปัชฌายาจารย์ จงบอกกันท่านว่าอาตมาให้ถามท่านว่ายังค่อยสำราญเป็นสุขหาทุกข์มิได้หรือประการใด อาวุโสถามไถ่แล้วจงขอจำวรรษาอยู่ด้วยท่าน พระนาคเสนภิกษุได้ฟังอาจารย์ก็ชื่นบานหรรษา กระทำประทักษิณพระอุปัชฌาย์แล้วมายังสำนักพระมหาเถระอัสสคุตเคารพนบนอบหมอบกราบเล่าบอกแก่ท่านทุกสิ่งทุกประการเหมือนคำพระอุปัชฌาย์สั่งไป แล้วก็ของอาศัยจำวรรษาอยู่ พระอัสสคุตไม่รู้จักชื่อ จึงถามว่า ดูกรอาวุโสท่านชื่อไรเล่า พระนาคเสนจึงบอกว่าข้าพเจ้าชื่อนาคเสน พระอัสสคุตจะลองปัญญาจึงถามว่าชื่อของอาตมานี้ชื่อไร พระนาคเสนจึงว่า ชื่อของพระผู้เป็นเจ้านี้ พระอุปัชฌาย์ข้าพเจ้ารูปจักอยู่พระอัสสคุตจึงถามว่า อุปัชฌาย์ของท่านชื่อไร พระนาคเสนจึงบอกว่าชื่อพระอุปัชฌาย์ของข้าพเจ้าพระผู้เป็นเจ้าก็รู้จักอยู่ พระอัสสคุตจึงรู้ว่าพระภิกษุองค์นี้มีปัญญา จึงดำริว่า ภิกษุองค์นี้ปรารภนาจะเรียนพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกนี้อาตมาหารู้สันทัดแท้ไม่ ได้สำเร็จมรรคผลก็จริงแล แต่ทว่าฝ่ายพระไตรปิฎกรู้เป็นกลาง ๆ จะบอกเจ้ากูไม่ตลอด ก็อย่างเลยอาตมาจะกระทำกิริยาไม่เจรจาด้วยภิกษุรูปนี้ ทำเป็นทีเหมือนจะลงพรหมทัณฑ์เถิด พระอัสสคุตดำริแล้ว ก็กระทำพรหมทัณฑ์คือนิ่งไปไม่พูดกับพระนาคเสนตลอดปวารณาพระวรรษา ฝ่ายพระนาคเสนก็ปรนนิบัติพระอัสสคุตเถระ กวาดบริเวณที่อยู่ทั้งหลาย เอาน้ำบ้วนปากกับไม้สีฟันมาตั้งวางถวายไว้ ฝ่ายพระอัสสคุตก็มิได้เอาอุทกังและไม่สีฟันนั้นมาชำระกิจ บริเวณที่พระนาคเสนกวาดนั้นก็กลับกวาดใหม่ แต่อย่างนี้ตลอดไตรมาสปวารณาพระวรรษา

(๒๐) โปรดอุบาสิกา.
    ในกาลครั้งนั้น ยังมีอุบาสิกาผู้หนึ่งเป็นผู้ม่าย ปรนนิบัติพระผู้เป็นเจ้ามาประมาณ ๓๐ พระวรรษา จึงไปสู่อาวาสอาราธนาพระอัสสคุตแล้ว จึงถามว่า พระวรรษานี้มีพระภิกษุมาอยู่ด้วยพระผู้เป็นเจ้าเท่าไร พระอัสสคุตจึงบอกว่า ดูกรอุบาสิกา เจ้ากูมาอาศัยอยู่รูปหนึ่ง อุบาสิกจึงว่า ถ้ากระนั้นนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าไปฉัน นิมนต์พาพระภิกษุรูปนั้นไปด้วย ส่วนอุบาสิกากลับมา นิมิตสิ้นราตรีนั้นนครั้นอรุณรุ่งราวสว่างฟ้า พระอัสสคุตมหาเถรเจ้าแต่นิ่งมามิได้สนทนากับด้วยพระนาคเสนนั้น กำหนดถึงปวารณาออกพระวรรษา ตกว่าพระอัสสคุตต้องเจรจากับพระนาคเสนวันนั้น บอกว่าอุบาสิกาเขามานิมนต์ข้าให้พาเธอเข้าไปฉัน ว่าเท่านั้นก็นุ่งสบงทรงจีวรคลุมบาตรแล้วก็พานาคเสนออกจากอาวาสลีลาศมาสู่เคหสถานของอุบาสิกา แล้วก็นิสัชนาการนั่งเหนือที่อาสนะลาดปูไว้ ส่วนอุบาสิกาก็มีศรัทธาเลื่อมใสใจผ่องแผ้ว จัดแจงขาทนียะโภชนียะแล้วก็ถวายให้ฉัน ส่วนพระอัสสคุตนั้นกระทำภัตกิจแล้ว มีกรจับบาตรไว้ จึงให้อุบาสิกาตามประทีปที่บูชา แล้วสั่งให้พระนาคเสนภิกษุอยู่สำแดงคาถาอนุโมทนา ส่วนพระอัสสคุตก็อุฏฐาการจากอาสน์ ไปสู่อาวาสของอาตมาในกาลนั้น ลำดับนั้น อุบาสิกจึงว่ากับพระนาคเสนว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าโยมนี้เป็นคนเฒ่าชรา จะใคร่ฟังซึ่งคาถาอันคัมภีรภาพ จะได้จำเริญสติปัญญา นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอนุโมทนาด้วยคาถาอันคัมภีรภาพนั้น ส่วนว่าพระนาคเสนก็กระทำอนุโมทนา ด้วยคัมภีรคาถาให้สมควรกับสติปัญญาของอุบาสิกา ฝ่ายว่าอุบาสิกาได้ฟังพระคาถานั้น ก็ได้ธรรมจักขุปราศจากธุลีกล่าวคือราคะดำฤษณา มามลทินมิได้ คือเห็นไปในกระแสธรรมที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำอนุโมทนานั้นว่า ปัญญาเห็นว่ากองแห่งสมุทยธรรม มีอวิชชาปัจจยาเป็นต้นนี้ มีในสันดานสัตว์ผู้ใดแล้ว จะบังปัญญาไว้มิให้เห็นเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แล้วมีแต่ว่าจะเวียนตายเวียนเกิดอยู่ไม่รู้แล้วเหลือที่จะพรรณา อันว่าสมุทยธรรมนั้น มีสภาวะเป็นนิโรธรรมดับสูญสิ้นแล้วจะปราศจากมลทินสิ้นราคาทิกิเลส เข้าสู่พระนิเวศสถานนิพพานเมืองแก้วอันแผ้วจากทุกข์เกษมสุขหาสิ่งจะปานปูนเปรียบเทียบมิได้ เมื่อมหาอุบาสิกาได้ธรรมจักขุพิจารณาเห็นไปดังวิสัชนามาฟังพระนาคเสนกระทำอนุโมทนาคาถาต่อไป ครั้นจบลงแห่งคาถาอนุโมทนา มหาอุบาสิกาก็สำเร็จพระโสดาปัตติผล ส่วนพระอัสสคุตเถรเจ้าเข้าไปสู่โรงมณฑลธรรม รำพึงไปก็เห็นด้วยจักษุเป็นทิพย์ ก็สาธุการพระนาคเสนว่า สาธุ ๆ พระนาคเสนนี้มีสติปัญญา ประชุมชนทั้งสองคือมนุษย์และเทวดา ท่านจะมาทำลายให้คลายจากความสงสัย ด้วยยิงไปซึ่งลูกธนูกล่าวคือสำแดงธรรมให้ฟังครั้งหนึ่ง เหมือนอุบาสิกากระนั้น ได้ฟังธรรมของท่านครั้งเดียว ก็ทำลายเสียซึ่งสักกายทิฏฐิวิจิกิจฉาสีลัพพตปรามาสได้มรรคได้ผล สาธุดังเราชมสติปัญญาท่านนี้ประเสริฐนักหนา พระอัสสคุตก็สรรเสริฐเยินยอไปมา เทวดามากกว่าแสนก็ตบมือชื่นชมอภิรมย์สาธุการว่า ท่านทั้งปวงเอ๋ย อัศจรรย์นักหนา ด้วยพระนาคเสนเจ้าอนุโมทนาด้วยคาถาคัมภีรภาพควรจะอนุโมทนา ว่าแล้วก็ยิ่งยินดีปรีดา ทิพฺพจุณฺณานิ ก็ โปรยลงมาซึ่งจุณสุคนธาทิพย์สักการบูชา ขณะเมื่อจบลงแห่งพระสัทธรรมเทศนา ก็มีในกาลนั้น

(๒๑) สู่กรุงปาตลีบุตร.
   ฝ่ายว่าพระนาคเสนผู้มีอายุกระทำภัตตานุโมทนาด้วยคัมภีร์คาถาจบแล้ว ก็อุฏฐาการลุกจากอาสน์มาสู่อาวาสที่สำนักพระอัสสคุต แล้วก็เคารพนอบนบนมัสการพระอัสสคุตจึงว่ากับพระนาคเสนว่า ตัวท่านมาอยู่นี้ก็นานช้า นี่แน่ะข้าจะบอกให้รู้ก่อน ยังมีเมืองหนึ่งชื่อปาตลีบุตรนคร มีอโสการามข้างทิศอุดร มีท่านผู้ทรงศีลสังวรมีนามกรชื่อธรรมรักขิตสถิตอยู่ที่อโสการามวิหาร อาวุโสจงไปสู่สำนักท่านเล่าเรียนพระไตรปิฎกตามอัชฌาสัยพระนาคเสนจึงถามว่าใกล้หรือไกลสักเท่าไรเล่าพระเจ้าขา พระอัสสคุตจึงบอกว่ามรรคาไกลได้ร้อยโยชน์ พระนาคเสนจึงว่าได้โปรดเถิด ข้าพเจ้านี้เห็นว่าจะประดักประเดิดทางลำบากบ้างที่จะบิณฑบาตจะมีหรือประการใด พระอัสสคุตจึงว่าไปเถิด จะได้ประดักประเดิดหามิได้ เออท่านไปในระหว่างมรคาที่ลีลาศจะได้บิณฑบาตทั้งจะได้จังหันสาลีอันประกอบด้วยกัปปีย์ต้มแกงทุกประการ จะได้กันดารหามิได้ พระนาคเสนได้ฟังก็ดีใจว่าทีนี้จะได้ไปเล่าเรียน ดำริแล้วก็กระทำประทักษิณสิ้นตติยวารเวียนเป็นสามรอบ นอบนบอำลามาไปตามมรรคาประเทศทางไกลขณะนั้น ยังมีเศรษฐีอยู่ในเมืองปาตลีบุตรนคร สัญจรไปค้าขายในชนบททั้งหลาย ครั้นขายของแล้วก็บรรจุสินค้าใหญ่น้อยบรรทุกเกวียน ๕๐๐ แล้วเข็นขับกลับมา ได้ทัศนาการเห็นพระนาคเสนแต่ไหล จึงให้หยุดเวียนไว้แล้วจึงถวายอภิวันท์ไหว้ไต่ถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจักไปสู่ประเทศอารามไหน พระนาคเสนก็บอกว่าอาตมานี้จะไปสู่ปาตลีบุตรนคร เศรษฐีได้ฟังก็ชื่นชมอภิรมย์สโมสรจึงมีสุนทรวาจาว่า ถ้ากระนั้นนิมนต์ไปด้วยกัน ส่วนพระนาคเสนจึงว่า คำอันท่านว่านี้เป็นกุศลอันดี ส่วนเศรษฐีดูอิริยาบถของพระผู้เป็นเจ้านี้เล่า ก็ละม่อมละไมมีน้ำใจศรัทธา จึงตกแต่งขาทนียะโภชนียะกับด้วยมือของตน นิมนต์ให้ฉันแล้วปวารณาไว้ว่า พระผู้เป็นเจ้าต้องประสงค์สิ่งไร ก็บอกเล่าแก่ข้าพเจ้าเถิด เมื่อพระนาคเสนกระทำภัตกิจแล้ว เศรษฐีนั่งอยู่ที่อาสนะอันต่ำมีน้ำจิตจะใคร่รู้นาม จึงไต่ถามนามพระนาคเสน พระนาคเสนบอกนามชื่อนี้ ชื่อนี้เศรษฐีจึงถามว่าพระผู้เป็นเจ้ารู้พระพุทธวจนะอยู่หรือ พระนาคเสนก็บอกว่า อาตมานี้รู้แต่พระอภิธรรมเศรษฐีกล่าวถ้อยคำว่าข้าพเจ้าก็รู้พระอภิธรรม เราทั้งสองจะได้ท่องทานสังวัธยายด้วยกันถ้ากระนั้นขออาราธนาเทศนาให้ข้าพเจ้าฟังสักหน่อย ครั้งนั้นพระนาคเสนก็สำแดงพระธรรมเทศนาเศรษฐีได้ฟังก็ชื่นบานหรรษาได้ธรรมจักขุ คือ ปัญญาจักขุอันหามลทินธุลีราคีมิได้ ก็บังเกิดเห็นแจ้งประจักษ์ในสมุทยธรรมและนิโรธรรมเหมือนอุบาสิกาที่วิสัชนามาแต่หลัง ครั้นจบพระสัทธรรมเทศนา เศรษฐีก็ให้ทาสกรรมกรของอาตมาเทียมเกวียน ๕๐๐ เข้าแล้ว ก็ขับไปตามมรรคาพาพระนาคเสนไป ครั้นจะใกล้ถึงปาตลีบุตรนครเข้า เศรษฐีจึงว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ทางนั้นแน่เป็นทางไปสู่อโสการาม พระผู้เป็นเจ้าจงไปตามทางนี้แลแต่ทว่า อย่าเพ่อไปก่อน นิมนต์ให้พรแก่ข้าพเจ้า พระนาคเสนจึงตอบเล่าว่า อาตมาเป็นภิกษุจะให้พรสิ่งไรเศรษฐีจึงว่าพรอันใดที่ควรแก่พระผู้เป็นเจ้าจะให้ได้ ข้าพเจ้าจะรับประทานไว้ พระนาคเสนจึงว่ากระนั้นท่านจงรับเอาพรคือการกุศล อย่าประมาทลืมตนในการกุศล พรอันนี้มีผลโดยสุจริตรูปประสิทธิ์ให้แก่อุบาสก ขณะนั้นเศรษฐีจึงถวายผ้ากัมพลแดงผืนหนึ่งยาว ๑๖ ศอก กว้าง๘ ศอกแก่พระนาคเสน พระนาคเสนก็รับเอาผ้า ส่วนว่าเศรษฐีมีกรประณมเหนือศิโรตม์โสมนัสสาปราโมทย์ แล้วก็ถวายปฏิญาณ แล้วก็ถวายนมัสกากระทำประทักษิณแล้วลามาสู่ปาตลีบุตรนคร ส่วนพระนาคเสนก็สัญจรมาสู่อโสการาม อันเป็นที่อยู่แห่งพระธรรมรักขิตนั้น ครั้นถึงจึงก้มเกล้านมัสการพระมหาเถระว่า ขอพระคุณเจ้าจงกรุณาบอกพระพุทธวจนะให้แก่ข้าพเจ้าในกาลบัดนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น