วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มิลินทปัญหา(๕)


(๑) วัญจนปัญหา.

     ในกาลนั้นแท้จริง พระนาคเสนผู้มีอายุนั่งอยู่ในที่ใดพระยามิลินท์ก็เข้าสู่สถานที่นั้น ครั้นเข้าไปใกล้แล้ว บพิตรเจ้าจึงกล่าวซึ่งสัมโมทนียกถา ควรจะลึกสิ้นกาลช้านาน แล้วก็ทรงนิสัชนาการนั่งในที่สมควรข้างหนึ่ง ฝ่ายพระนาคเสนผู้มีอายุ ก็สนทนาด้วยถ้อยคำเป็นที่ยังจิตแห่งพระยามิลินท์ให้ชื่นชมโสมนัสปสันนาการสมเด็จบรมกษัตริย์พระเจ้ามิลินท์ จึงทรงปุจฉาซึ่งอรรถปัญหาประถมว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้จำเริญ โยมนี้ปรารถนาจะใคร่เจรจาด้วยพระผู้เป็นเจ้า พระนาคเสนจึงว่า ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ บพิตรจงเจรจาไปเถิด อาตมภาพ ก็ปรารถนาจะใคร่ฟัง
     พระยามิลินท์จึงมีพระวาจาว่า  "ข้าพเจ้าเจรจาแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงฟังเอาเถิด"
     "พระนาคเสนจึงว่า อาตมภาพฟังแล้ว"
     "พระยามิลินท์จึงว่า พระผู้เป็นเจ้าว่าฟังแล้วได้ยินอย่างไร"
     "พระนาคเสนจึงว่า ก็บพิตรว่าเจรจาแล้วนั้นเจรจาอย่างไรเล่า"
     "พระยามิลินท์จึงว่า ข้าพเจ้าจะถามพระผู้เป็นเจ้า"
     "พระนาคเสนจึงว่า ดูกรบพิตร พระองค์จะถามก็ถามเถิด"
     "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าถามแล้ว"
     "ดูกรบพิตรผู้ประเสริฐ อาตมาก็วิสัชนาแล้ว"
     "พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาอย่างไร"
     "ก็บพิตรถามอาตมภาพอย่างไรเล่า"
     ในเมื่อพระยามิลินท์และพระนาคเสนปุจฉาวิสัชนากันดังนี้แล้ว ชาวโยนกห้าร้อยก็พากันให้สาธุการแก่พระนาคเสน แล้วจึงกราบทูลแก่พระยามิลินท์ว่า ข้าแต่สมเด็จบรมบพิตรผู้ประเสริฐ ขอเชิญพระองค์ทรงปุจฉาซึ่งอรรถปัญหาแก่พระนาคเสนต่อไปในกาลบัดนี้


(๒) นามปัญหา คำรบ๑.

     ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงทรงปุจฉาซึ่งปัญหายิ่งขึ้นไปว่า ธรรมดาว่าบุคคลอันสนทนากัน ถ้าไม่รู้จักนามและโคตรแห่งกันและกัน ถ้อยคำอันบังเกิดขึ้นแต่ชนทั้งสองนั้นมิได้ถาวรตั้งมั่น เหตุดังนี้เราทั้งสองจะต้องรู้จักกันเสียก่อน พระผู้เป็นเจ้าชื่ออะไร
     พระนาคเสนจึงถวายพระพรว่า เพื่อนพรหมจรรย์ท่านร้องเรียกชื่อของอาตมภาพว่านาคเสน ประการหนึ่งโสด มารดาบิดาท่านให้ชื่อแก่อาตมภาพหลายชื่อ คือชื่อว่านาคเสน ๑ ชื่อว่าวีรเสน ๑ ชื่อว่าสุรเสน ๑ ชื่อว่าสีหเสน ๑ ข้อซึ่งมีนามชื่อว่านาคะนั้นด้วยอรรถว่า บุคคลผู้ใดมิได้กระทำซึ่งกรรมอันลามก บุคคลผู้นั้นชื่อว่านาคะ ซึ่งมีนามชื่อว่าเสนะนั้น ด้วยอรรถว่าเป็นที่พำนักหมอบกราบลงแห่งบุคคลอันยอมตนเป็นศิษย์มาศึกษาเล่าเรียน ชื่อว่าวีระนั้นด้วยอรรถว่ามีความเพียรมิได้ย่อหย่อน ชื่อว่าสุระนั้นด้วยอรรถว่าองอาจรปราศจากภัยมิได้ครั่นคร้ามในท่ามกลางบริษัท ชื่อว่าสีหะนั้นด้วยอรรถว่าเป็นที่ยำเกรงแก่นักปราชญ์ทั้งหลายอื่น ดุจดังว่าพระยาไกรสรราชสีห์อันเป็นที่เกรงกลัวแก่หมู่มฤคชาติทั้งปวง และเสนศัพท์นั้น มีอรรถเหมือนดังวิสัชนาแล้วในนามเบื้องต้น คือนาคเสนนั้น อันว่ากล่าว
ซึ่งชื่อทั้งปวงดังนี้ เป็นสมมุติโวหารอันโลกทั้งปวงหากตั้งไว้ จะมีสัตว์มีบุคคลเป็นที่ตั้งแห่งมานทิฐิถือมั่นว่า ในชื่อทั้งปวงนั้นโดยปรมัตถ์หามิได้
     ในกาลนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงร้องประกาศแก่ชาวโยนกห้าร้อยและพระภิกษุสงฆ์แปดหมื่นว่า "ชาวโยนกห้าร้อยและพระภิกษุสงฆ์แปดหมื่นจงฟังถ้อยคำแห่งพระนาคเสนบอกแก่ข้าพเจ้าว่า เพื่อนพรหมจรรย์ท่านเรียกอาตมภาพว่านาคเสน จะมีสัตว์มีบุคคลในชื่อนั้นโดยปรมัตถ์หามิได้ ข้าแต่พระนาคเสนผู้จำเริญ ถ้าสัตว์และบุคคลไม่มีเหมือนดังคำของพระผู้เป็นเจ้าว่าแล้ว ไฉนเลยทายกที่ได้ถวายจตุปัจจัยแก่พระนาคเสนจะได้กุศลผลบุญเล่า ผู้ใดผู้หนึ่งคิดว่าจะฆ่าพระนาคเสนผู้เป็นเจ้าเสีย ถ้าเขาจะฆ่าเสียจะได้บาปกรรมอะไร โยมเห็นว่าจะเปล่าไปเหมือนชื่ออันบัญญัติเปล่า
อนึ่งคฤหัสถ์และบรรพชิตเรียกชื่อกัน ย่อมสรรเสริญนินทากันว่าผู้นั้นดีผู้นั้นชั่วเล่า ก็เห็นว่าเปล่า ๆทั้งนั้น เหตุเป็นนามบัญญัติเปล่า ประการหนึ่งเล่า เหมือนทายกทั้งหลายเขาถวายจตุปัจจัยแก่พระผู้เป็นเจ้า ก็ใครเล่ารับจีวรที่ทายกให้ ใครเล่ารับบิณฑบาตที่ทายกให้ ใครเล่ารับสื่อสารอาสนะที่ทายกให้ ใครเล่ารู้ไปในพระไตรปิฎก ใครเล่าเป็น
สังฆปริณายก ใครได้มรรคได้ผลถ้าจะว่าโดยฝ่ายอกุศลนั้นเล่า ชื่อนี้สิเปล่านับเข้าที่ตัวบุคคลนั้นนับไม่ได้ จะรู้ว่าใครกระทำปาณาติบาต ใครกระทอทินนาทาน จะรู้ว่าใครกระทำกาเมสุมิจฉาจาร จะรู้ว่าใครเจรจามุสาจะรู้ว่าใครต่อใคร ฟังได้อยู่แล้วหรือกระไรพระผู้เป็นเจ้าได้ว่ากะโยมสิน่ะว่า สมณะและสามเณรเรียกอาตมาแต่วันอุปสมบทมาชื่อว่านาคเสนนั้น โยมเรียกพระผู้เป็นเจ้าว่าพระนาคเสนพระผู้เป็นเจ้าไปยินหรือไม"่

     "ถวายพระพร ได้ยิน"
     "ถ้าพระผู้เป็นเจ้าได้ยินแล้วชื่อนาคเสนนี้แหละก็จัดเข้าในบุคคลคือตัวพระผู้เป็นเจ้า "พระผู้เป็นเจ้านี้ชื่อนาคเสนหรือ"
     "ขอถวายพระพร หามิได้"
     "ผมพระผู้เป็นเจ้าหรือ ชื่อนาคเสน"
     "ขอถวายพระพร หามิได้"
     "ขนหรือ ชื่อนาคเสน"
     "ขอถวายพระพร มามิได้"
     "เล็บ ๒๐ นั้นหรือ ชื่อนาคเสน"
     "ขอถวายพระพร หามิได้"
     "ฟันนั้นหรือ ชื่อนาคเสน"
     "ขอถวายพระพร หามิได้"
     "หนังกำพร้าหุ้มกายนี้หรือ ชื่อนาคเสน"
     "ขอถวายพระพร หามิได้"
     "เนื้อทั้งหลายในกายนั้นหรือชื่อนาคเสน"
     "ขอถวายพระพร หามิได้"

     สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นสาคลนครมีสุนทรพจนารถพระราชโองการตรัสถามไปโดยนัยเนื่องกันว่า "คือเอ็นใหญ่ ๗๐๐ เยื่ออันมีในกระดูก คือม้ามก็ดี คือหัวใจก็ดี คือตับก็ดี คือพังผืดก็ดี คือไตก็ดี คือปอดก็ดี ไส้น้อยก็ดี ไส้ใหญ่ก็ดีอาหารใหม่ก็ดี กรีสํ วา อาหารเก่าก็ดี คือดีก็ดี คือเสมหะก็ดี คือหนองก็ดี คือโลหิตก็ดี คือเหงื่อก็ดี คือมันก็ดี คือน้ำตาก็ดี คือมันเหลวก็ดี คือเขฬะก็ดี คือน้ำมูกก็ดี คือไขข้อก็ดี คือน้ำมูตรก็ดี คือสมองศีรษะก็ดี มันในศีรษะก็ดี เหล่านี้หรือชื่อว่า นาคเสน"
     "ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร พระองค์ผู้ทรงธรรมิกราชาธิราชผู้ประเสริฐ ส่วนทั้งปวงนี้จะได้ชื่อว่านาคเสนหามิได้ ขอถวายพระพร"
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนคร จึงมีพระสุนทรพจนารถประภาษซักต่อไปในเบญจขันธ์ทั้งห้าว่า "รูปขันธ์ของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็ดี เวทนาขันธ์ก็ดี สัญญาขันธ์ก็ดี สังขารขันธ์ก็ดี วิญญาณขันธ์ก็ดี ดังนี้หรือชื่อนาคเสน"
     "ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ สิ่งเหล่านี้จะได้ชื่อว่านาคเสนหามิได้ ขอถวายพระพร"
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทราธิบดี จึงมีพระราชโองการตรัสถามด้วยธาตุจัดเป็นคู่กันว่า "จักขุธาตุและรูปธาตุนี้ประการ ๑ โสตธาตุและสัททธาตุประการ ๑ ฆานธาตุและคันธธาตุนี้ประการ ๑ ชิวหาธาตุและรสธาตุประการ ๑ กายธาตุและโผฏฐัพพธาตุประการ ๑ มโนธาตุประการ ๑ จักขุธาตุที่ทรงจักษุให้เห็นรูป อันทรงตัวเป็นรูปหญิงรูปชายนี้ก็ดี โสตธาตุทรงโสตทั้งสองให้ได้ยินเสียงชื่อสัททธาตุ สัททธาตุนี้จะเป็นเสียงนั้น คือสารพัดสัททะสำเนียง
ทั้งปวงก็อาศัยธาตุทรงให้เป็นเสียง เสียงทั้งปวงมากระทบโสตธาตุคือหูทั้งสอง ก็โสตธาตุนี้ทรงหูทั้งสองไว้มิให้หนวกหนักจึงได้ยิน ฆานธาตุจมูกให้ดมกลิ่นมิให้เป็นหวัดและริดสีดวงเป็นต้น และกลิ่นนั้นคือธาตุทรงไว้ซึ่งคันธธาตุ ก็ทรงคัวเอง ที่เหม็นก็ให้ทรงกลิ่นเหม็น ที่หอมก็ให้ทรงกลิ่นหอม แม้ว่ากลิ่นกลายหายไปก็อาศัยธาตุไม่มี ชิวหาธาตุทรงลิ้นให้รู้รสว่าเค็มคาวหวานเป็นต้น รสธาตุคือเค็มคาวหวานนั้นก็อาศัยธาตุทรงไว้ ถ้าธาตุวิปริตแล้วก็กลับกลายไป และกายธาตุนั้นก็ทรงกายให้รู้เจ็บปวดกระวนกระวาย และให้รู้เพลิดเพลินสบาย ถ้ากระทบโผฏฐัพพธาตุ คือสิ่งกระด้าง และอ่อน สิ่งที่กระด้างเป็นต้นว่า ศัสตราวุธและก้อนหินศิลามีธาตุทรงไว้
ให้กระด้าง และอ่อน สิ่งที่กระด้างเป็นต้นว่า ศัสตราวุธและก้อนหินศิลามีธาตุทรงที่ลอออ่อน เป็นต้นว่าฟูกหมอน และลอออ่อนเป็นเนื้อทิพย์ มาต้องกายมนุษย์ทั้งหลายเข้าเมื่อใดก็เพลินในอาศัยเพราะกายธาตุนี้ ถ้าหากายธาตุมิได้คือไม่มีที่ตั้งที่ทรงแล้ว กายก็มิได้ประชุมกันเป็นเนื้อเป็นตัว และมโนธาตุนั้นทรงไว้ให้เป็นใจเป็นจิต อยู่ทั้งนี้ อธิบายด้วยธาตุเป็นคู่กันและมโนธาตุอันเดียวตามวาระพระบาลีสมมุติ เป็นใจความเท่านี้"
     เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามด้วยธาตุทั้งปวงว่า "ธาตุทั้งหลายนี้หรือชื่อนาคเสน"
     ฝ่ายพระนาคเสนผู้วิเศษ ก็ถวายพระพรปฏิเสธว่ามิได้ ถวายพระพรรับพระราชโองการ
     พระเจ้ากรุงมิลินท์นรินทรมหาศาลจึงกลับเอาขันธ์ ๕ ประการ มีรูปขันธ์เป็นต้น มีวิญญาณขันธ์เป็นปริโยสานมาถามอีกเล่า
     ฝ่ายพระนาคเสนผู้เป็นเจ้าก็มิรับ กลับถวายพระพรปฏิเสธ
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีจึงมีวจีพจนารถประภาษถามว่า "ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ธรรมที่นอกกว่ารูป นอกกว่าเวทนา นอกว่าสัญญา นอกกว่าสังขาร นอกกว่าวิญญาณ นี้หรือเป็นนามชื่อว่านาคเสน"
     พระนาคเสนผู้วิเศษก็ถวายพระพรว่า "หามิได"้

(๓) นามปัญหา(ต่อ) คำรบ๑.


     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีได้ทรงฟังจึงตรัสว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าสารพัดสารพันที่โยมจะเอามาถามซอกซอนถามพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าปฏิเสธว่ามิใช่นามของพระผู้เป็นเจ้า โยมเก็บเอามาถามด้วยขันธ์และธาตุและอาการ ๓๒ มีในกายตัวของพระผู้เป็นเจ้าสารพัด โยมไม่พิจารณาเห็นธรรมสิ่งใด ที่จะนับเข้าในชื่อของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าเจรจาเปล่า ๆ พระผู้เป็นเจ้าเจรจาลอมแลมเหลาะแหละไม่ควรฟัง พระผู้เป็นเจ้าเจรจามุสาสับปลับ เดิมบอกว่าชื่อนาคเสนแล้วกลับไม่รับ ดูรึพระผู้เป็นเจ้านี้สับปลับเจรจามุสา ดูราโยนกข้าหลวงทั้งปวง ๕๐๐ และพระภิกษุแปดสิบพันที่ข้าอ้างเป็นอุตรีพยานนี้ ฟังเอาด้วยกัน ณ กาลบัดนี้
     เมื่อสมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทราธิบดีตรัสบริภาษด้วยทารุณราชพจนารถอันหยาบ เป็นอริยุปวาทคำฉกรรจ์แก่พระนาคเสนองค์อรหันต์ฉะนี้
     ฝ่ายพระนาคเสนผู้มีอายุ เป็นองค์พระอรหันต์อันมีกำกงแห่งสังสารจักร อันจะชักให้สัตว์เกิดตายเวียนว่ายในวัฏสงสารประหาราด ฉลาดด้วยพระปฏิสัมภิทา มีพระปัญญา ปรุโปร่งไปในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ คือธรรมปฏิสัมภิทาแตกฉานไปในพระสูตรพระวินัยพระปรมัตถ์ มิหนำอีกปฏิเวธธรรมทางมรรคทางผล อรรถปฏิสัมภิทาฉลาดในอรรถกถาบาลีอรรถแปลแก้ไขนิรุตติปฏิสัมภิทาฉลาดในอักขระอักษรพยัญชนะ นิมิต มิคหิต พินทุ สิ้นทุกประการมิได้กังขาปฏิภาณปฏิสัมภิทาแตกฉานในอ่านสวดให้ถูกตามครุลหุธนิตสิถิลลำนฉันทานุรักษ์และเทศนา สำแดงธรรมอันน้อยใหญ่แกล้วกล้าไปทุกประการ ได้พระปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔
ยิ่งยอดบุคคลถึงฉะนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดี ทรงบริภาษพ้อวันนั้นมีน้ำพระทัยมิได้ไหวหวั่นฉันใด อุปไมยเหมือนจอมเสลราชพระยาเมรุมาศศิขรินทร อันมิได้รู้โอนอ่อนสะเทือนสะท้านด้วยลมกาลเวรัมภวาตหากพัด จะได้โกรธกรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์อันตรัสผรุสโวหารหามิได้
พระผู้เป็นเจ้าเบิกบานด้วยจำเริญฌานเมตตา เอ็นดูนักหนา จะอุปมาฉันใดอุปไมยประดุจมารดาอันเห็นบุตรของอาตมา อันเป็นทารกกำหนัดนม กำดัดที่จะรัก กำดัดที่จะชมเชย อันเที่ยวเล่นไกลแล้วอยากนมและร้องไห้พิไรร่ำมา มารดาเห็นลุกรักก็วิ่งออกไป กระพัดกระพองร้องเรียกบุตรของอาตมาไว ๆ ว่า ลูกเอ๋ยเจ้างามประเสริฐมาเถิดพ่อมาแม่มา      ตกว่าพระนาคเสนผูกเมตตาต่อสมเด็จบรมกษัตริย์กรุงมิลินทราธิบดีนี้ก็เหมือนกัน พระเจ้ากรุงมิลินท์นั้นยังเป็นปุถุชน พระผู้เป็นเจ้าไม่มีความโกรธจะโปรดให้ได้มรรคผล เสวยชลอมฤตธาราน้ำนม ให้บรมพิตรอันประพฤติทุจริตมืดมิดอยู่เป็นกำลัง เร่งให้เสวยเสียยังแล้ว จะโปรดให้ได้นิพพานเมืองแก้วเสียในปัจจุบันชาตินั้นด้วยแก้ปัญหา พระผู้เป็นเจ้ารู้จิตวาระนี้พระราชหฤทัยอัชฌาสัยของกรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีนั้น ทำเป็นประหนึ่งจะวิสัชนามิได้ ดุษณีภาพนิ่งอยู่ประมาณครู่หนึ่งในกาลนั้น
     พระนาคเสนผู้ปรีชา นิสีทนานั่งนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงถวายพระพรว่า มหาราช ดูกรบรมพิตรและราชสมภารผู้ประเสริฐในราชสมบัติ บพิตรนี้เป็นกษัตริย์อันสุขุมมาลัยมิ่งมไหศวรรย์ สุขุมโดยแท้แต่เสด็จจากพระราชนิเวศน์มาสู่ประเทศอสงไขยบริเวณเท่านี้ดูนี่หมองศรีนักหนา อนึ่งเสด็จมาก็ต้องแสงสุริยะกล้าเป็นเวลามัชฌันติกสมัย น้ำพระทัยจึงกลัดกลุ้มรุ่มร้อน ทรงบทจรเสด็จพระราชาดำเนินมายังสำนักอาตมานี้เล่า ก็เสด็จด้วยพระบาทเปล่า ชะรอยระแหงหินกรวดอันใด ยอกเข้าที่ฝ่าพระบาทปวดประชวรแสบสามารถหรือกระไรนั้น จึงร้ายกาจ พระโองการประภาษเล่าก็หยาบหยาม นี่แน่ะอาตมาจะถามบพิตรพระราชสมภารเจ้า บพิตรพระราชสมภารเจ้าเสด็จมานี้ด้วยพระบาทเปล่าหรือ หรือบพิตรพระราชสมภารเจ้าเสด็จจากราชฐานด้วยพาชีสินธพชาติอาชาญยานุมาศ อันใด จงตรัสพนารถประภาษแก่อาตมาในกาลบัดนี้
แท้จริงอันดับนั้นสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการเผดียงว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เมื่อโยมจะมาสู่อสงไขยบริเวณสำนักพระผู้เป็นเจ้านี้ โยมไม่มาด้วยพระบาทเปล่า มาด้วยรถ ครั้นมาสู่สำนักพระผู้เป็นเจ้าโยมเข้ามาด้วยพระบาทเปล่า
     พระนาคเสนได้ฟังพระโองการประภาษ จึงประกาศว่า ดูกรราชเสวกโยนกทั้ง ๕๐๐ ฟัง เอาเถิด ถ้อยคำสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทร์ผู้ประเสริฐ ตรัสว่ามาด้วยรถ มาสู่สำนักอาตมานี้มาด้วยพระบาทเปล่า ชาวเจ้าทั้งปวงกับพระภิกษุแปดสิบพันจงฟังเป็นพยานในกาลบัดนี้ พระนาคเสนจึงมีเถรปุจฉาถามว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในราชสมบัติ ซึ่งมีพระราชโองการตรัสว่าเสด็จด้วยรถนั้นตรัสมั่นคงละหรือ

     เออข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า โยมว่า ว่ามาด้วยรถจริง
     พระนาคเสนมีเถรปุจฉาถามว่า บพิตรพระราชสมภารบอกว่ามาด้วยรถนั้น งอนนั้นหรือชื่อว่ารถ
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่างอนนั้นจะได้ชื่อว่ารถหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรปุจฉาซักถามต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เพลานั้นหรือชื่อว่ารถ
     พระเจ้ามิลินทร์ภูมินทราธิเบศร์ ปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรปุจฉาซักถามต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ จักรนั้นหรือชื่อว่ารถ ขอถวายพระพร
     พระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนคร ปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรปุจฉาซักถามต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ คันชักนั้นหรือชื่อว่า ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรปุจฉาซักถามต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เรือนรถนั้นหรือชื่อว่ารถ ขอถวายพระพร
     พระจ้ามิลินท์ก็ปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเรถปุจฉาซักถามต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เชือกรถนี้หรือชื่อว่ารถ ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร ปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรวาจาซักถามต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ประฏักสำหรับถือนั้นหรือชื่อว่ารถ ของถวายพระพร
     พระเจ้ามิลินท์ปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรปุจฉาซักถามสืบต่อไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ แอกนั้นหรือชื่อว่ารถ ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปฏิเสธว่าหามิได้
     พระนาคเสนมีเถรวาจาถมไปจนสิ้นสุดฉะนี้ จึงมีเถรบริภาษตัดพ้องว่า ดูรานะสมเด็จบรมบพิตรผู้ประเสริฐในราชสมบัติ เมื่ออาตมาเอาเครื่องรถนั้นมาถามถ้วนถี่บพิตรก็ตรัสว่ามิใช่รถ ตรัสปฏิเสธยั่งยืน อาตมาไม่เห็นสิ่งใดที่จะเรียกว่ารถสิ้นทั้งหมดเดิมทีสิตรัสบอกว่า เสด็จออกมาด้วยรถ ครั้นอาตมาถามหานามรถว่า สิ่งนี้หรือชื่อว่ารถ ก็ปฏิเสธว่ามิใช่รถ กระนั้นก็ปดรูปเล่น เออเป็นถึงอัครราชเรืองเดชในประเทศทวีปชมพูไม่มีความอดสู ดูรึมาตรัสสุสามวาทช่างประภาษได้ ฟังเอาเป็นไรราชเสวกโยนกข้าหลวงทั้ง ๕๐๐ อันหมอบรายเรียงเคียงกัน และพระภิกษุสงฆ์แปดสิบพันที่เราบอกไว้เป็นพยานนั้น จงฟังเอาด้วยกันในกาลบัดนี้
     ขณะนั้นหมู่ราชเสวกโยนกข้าหลวง ๕๐๐ ก็มี่ก้องร้องซ้องสาธุการพระนาคเสนนี้ต่าง ๆบางพวกที่ตัวโปรดก็บังคมเหนือศิโรตม์ แล้วทูลเตือนสมเด็จบรมกษัตริย์ให้ตรัสแก้ไข
     ส่วนสมเด็จพระเจ้าพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลราชธานี จึงมีพระราชโองการแก้ปัญหาว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า โยมจะได้เจรจามุสาวาทหามิได้ นามบัญญัติชื่อว่ารถนั้นอาศัยสัมภาระเครื่องรถ พร้อมกันหมดคืองอนและจักรเพลา และคันชักรถและเรือนรถและเชือกรถ และประฏักกับแอกทั้งหมด จึงได้บัญญัตินามชื่อว่ารถ นะพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจงทราบด้วยประการฉะนี้
     พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในบวรมไหศวรรย์ อาตมาก็เหมือนกัน ที่ถวายพระพรไว้ว่า ชื่อนาคเสนนั้นจะได้มุสาหามิได้ อาศัยอาการ ๓๒ ของอาตมาเป็นอาทิ คือ เกศาโลมาตลอดถึงมัตถลุงคังทั้งหมด จึงได้นามบัญญัติปรากฏชื่อว่านาคเสน เหมือนชื่อว่ารถ อาศัยสัมภาระทั้งหมดจึงเรียกว่ารถยาน ก็สมด้วยคำท่านปฏาจาราภิกษุณี กล่าวในที่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระทศพลพิชิตมารโมลี ยุติด้วยวาระแห่งพระบาลีว่า
ยถาปิ องฺคสมฺภาโร โหติ สพฺโพ รโถ อิติ
เอวํ ขนฺเธสุ สนฺเตสุ โลโก สตฺโตติ สมฺมตีติฯ

     กระแสความว่า อันว่าสัมภาระเครื่องรถพร้อมทั้งหมด ได้นามบัญญัติเรียกว่า มีครุวนาฉันใด ได้ชื่อว่าสัตว์ว่าบุคคลนี้ก็อาศัยมีขันธ์พร้อม ๕ ประการ เปรียบปานดังรถนั้น ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี ทรงพระสวนาการแก้ปัญหาฉะนี้ มีน้ำพระทัยท้าวเธอปรีดาปราโมทย์ออกพระโอษฐ์ตรัสซ้องสาธุการว่า สาธุสะพระผู้เป็นเจ้าช่างแก้ปัญหาโยมอัศจรรย์นักหนา โยมสำคัฐว่าอยู่โยมแล้วทีเดียว พระผู้เป็นเจ้านี้เฉลียดฉลาดสามารถนักหนา กลับกล่าวปัญหาเปรียบเทียบอุปมาวิจิตรให้คนทั้งหลายคิดเห็นกระจ่างแจ้งแจ่มใสถ้าแม้ว่าสมเด็จพระชิเนนทรทศพล ยังสถิตมีพระชนม์อยู่นี้จะโปรดปรานตรัสสาธุการประทานที่ฐานันดร ให้เป็นเอกบุคคลข้างแก้ปัญหา ในกาลบัดนี้

 นามปัญหา คำรบ ๑ จบเท่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น