วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
มิลินทปัญหา(ตอนจบ)
(๑๗) ปัญญาลักขณปัญหา คำรบ ๑๔.
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์มีพระราชโองการตรัสถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ปัญญานี้เล่ามีลักษณะอย่างไร
พระนาคเสนจึงถวายพระพรตอบไปว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปัญญานี้มีลักษณะตัดรอน อาตมาได้ถวายพระพรแล้ว บัดนี้ทรงถามอีกก็จะต้องวิสัชนาอีก ปัญญานี้มีลักษณะโอภาส
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์มีพระราชโองการตรัสว่า ปัญญามีลักษณะโอภาสอย่างไร
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปัญญาโอภาสนั้นเมื่อจะบังเกิดย่อมกำจัดอนธการอันมืดมัวคือตัวอวิชชาชาติ จึงให้วิชชาโอภาสบังเกิดส่องสว่างคือรู้ไปในธรรมแล้วมีปัญญาเล่า ก็คือปัญญาผ่องแผ้วสว่างกระจ่างแจ้ง พิจารณาเห็นองค์แห่งพระอริยสัจสันทัดแน่นอน ลำดับนั้นพระโยคาวจรพิจารณาซึ่งสังขารก็เห็นเป็น บ้างเห็นเป็นบ้าง เห็นเป็น บ้าง ด้วยโอภาสลักขณะ ปัญญาเห็นสว่างกระจ่างมาแต่พระอริยสัจนั้นอย่างนี้ชื่อว่าโอภาสลักขณปัญญา ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีสุนทรราชโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้ากระทำอุปมาไปก่อน
พระนาคเสนก็ถวายพระพรอุปมว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐยิ่งมิ่งมไหศวรรย์ เปรียบปานดุจบุรุาผู้หนึ่งนั้นจุดประทีปคันและเทียนส่องเข้าไปในห้องเรือนอันมืดมนอนธการ ก็ชัชวาลสว่างกระจ่างแจ้งแลเห็นรูปต่าง ๆ เป็นต้นว่าถ้วยโถโอจานพาน ภาชนะอันตั้งเรียงเคียงกัน มีอรุวนาฉันใด โอภาสลักขณปัญญานี้ไซร้ เมื่อจะบังเกิดในสันดานท่านผู้เป็นโยคาวจรนั้น ก็กำจัดเสียซึ่งมืดคืออวิชชาอันบังปัญญามิให้รู้ธรรมยังวิชโชภาสอันสุกใสไพโรจน์คือ วิชชาอันจะรู้ไปในธรรมนั้นให้สว่างกระจ่างแจ้ง ยังญาณาโลกให้สว่างไสว ก็เห็นแจ้งในพระอริยสัจทั้ง ๔ ทีนั้นพระโยคาวจรเจ้าก็เห็นเป็นพระไตรลักษณญาณว่า เป็นอนิจจังบ้าง เป็นทุกขังบ้าง เป็นอนัตตาบ้างอย่างนี้แหละชื่อว่าโอภาสลักขณปัญญา ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี ทรงฟังอุปมาฉะนี้ก็มีน้ำพระทัยหรรษา จึงตรัสสาธุการว่าพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรอยู่แล้ว
ปัญญาลักขณปัญหา คำรบ ๑๔ จบเท่านี้
(๑๘) นานาเอกกิจกรณปัญหา คำรบ ๑๕.
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้าผู้ประกอบด้วย อันว่ากุศลธรรมทั้งหลายนี้ มีสันดานต่าง ๆกัน ให้สำเร็จซึ่งประโยชน์อันเดียวกันหรือ
พระนาคเสนถวายพระพรว่า กระนั้นแหละมหาบพิตร ธรรมทั้งหลายมีสันดานต่างกันให้สำเร็จประโยชน์อันเดียว แล้วฆ่าเสียซึ่งกิเลสด้วย ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเข้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงนิมนต์ให้พระนาคเสนกระทำอุปมา
พระนาคเสนผู้ปรีชาก็กระทำอุปมาอุปไมยว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเปรียบปานประดุจเสนาจตุรงค์แห่งองค์สมเด็จบรมกษัตริย์ อันยกไปปราบปัจจามิตรหมู่อรินทรราชอันราวี ฝ่ายจตุรงคเสนาทั้ง ๔ คือ เสนาช้าง เสนาม้า เสนารถ เสนา บทบาทเปล่าเหล่านี้ต่างกัน กระทำสงครามได้อันเดียวคือ ชนะศึกอันเดียว แล้วก็ฆ่าเสียซึ่งหมู่ปัจจามิตรทั้งหลายนั้น มีครุวนาฉันใด
กุศลธรรมทั้งหลายนี้ไซร้ มีสันดานต่างกัน มีลักษณะต่างกัน ให้สำเร็จประโยชน์สิ่งเดียว แล้วฆ่าเสียซึ่งกิเลสทั้งหลายให้ประลัย อุปไมยเหมือนจตุรงคเสนีมีสันดานต่างกัน ชนะสงครามอันเดียว แล้วฆ่าเสียซึ่งข้าศึกนั้น
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นกษัตริย์ ทรงฟังก็โสมนัสตรัสว่าพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้สมควรแล้ว
นานาเอกกิจกรณปัญหา คำรบ ๑๕ จบ เหล่านี้แสดงมาด้วยปฐมวรรคมีปัญหา ๑๖ ปัญหา นับวัญจนปัญหาอีก ปัญหา ๑ เข้าด้วยจึงเป็น ๑๖ ปัญหา จบเท่านี้
(๑๙) ธัมมสันตติปัญหา คำรบ๑.
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมิทาธิบดี มีพระราชโองการถามอรรถปริศนาแก่พระนาคเสนว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า มนุษย์และบุรุษหญิงชายฝูงสัตว์ทั้งหลาย ๒ เท้าก็ดี ๔ เท่าก็ดี หาเท้ามิได้ก็ดี ครั้นเกิดมาในโลกนี้ถ้าเป็นชายเมื่อยังเป็นทารกอยู่ครั้นเจริญวัยใหญ่ขึ้นก็กลายเป็นชายอื่นไป ถ้าว่าเป็นสตรีก็เป็นสตรีอื่นไป ถ้าเป็นสัตว์สองเท้าก็กลายเป็นสัตว์สองเท้าอื่นไป ถ้าเป็นสัตว์สี่เท้าก็กลายเป็นสัตว์มีเท้ามากอันอื่นไปถ้าเป็นสัตว์หาเท้ามิได้ก็กลายเป็นสัตว์หาเท้ามิได้อันอื่นไป ที่มีเท้ามากก็กลายเป็นสัตว์มีเท้ามากอันอื่นไปอย่างนั้นหรือประการใด
พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในราชสมบัติ อันว่ามนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานทั้งปวงเกิดมาแล้ว จะได้กลายเป็นอื่นไปนั้นหามิได้ฝ่ายมนุษย์นั้นที่เกิดมาเป็นสตรีผู้นั้นก็เป็นสตรี ที่เกิดมาเป็นบุรุษผู้นั้นก็เป็นบุรุษ จะว่าด้วยสัตว์เดียรัจฉานเล่าก็เหมือนกัน เกิดมาแล้วเป็นนามเป็นรูปสิ่งหนึ่ง และจะกลายเป็นนามรูปอื่นหามิได้ ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนคร มีสุนทรพระราชโอการตรัสว่า โยมยังสงสัย นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้แจ้งก่อน
พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดังบพิตรพระราชสมภารฉะนี้ เมื่อยังเป็นทกรกแรกประสูตินั้น พระกำนัลนางนมเชิญให้บรรทมหงายอยู่บนพระที่พระยี่ภู่ ณ พระอู่ทอง แต่เมื่อยังเป็นทารกอยู่นั้น ครั้นทรงพระจำเริญมาคุ้มเท่าบัดนี้นี่ เป็นมหาบพิตรนี้หรือว่าเป็นอื่นไป
พระเจ้ามิลินท์บรมกษัตริย์ตรัสว่า เมื่อเป็นทารกอยู่นั้นก็เป็นทารกอยู่ ครั้นจำเริญมาก็เป็นอื่นไป จะได้เรียกว่าทารกนั้นคือโยมนี้มิได้ เมื่อเล็กอย่างหนึ่ง เมื่อโตอย่างหนึ่ง ตกว่าเกิดมาแล้ว เมื่อเป็นทารกมีนามรูปอย่างหนึ่ง ครั้นจำเริญใหญ่แล้วก็เป็นอื่นไป กระนี้แหละพระผู้เป็นเจ้า
พระนาคเสนถวายพระพรว่า ถ้าบพิตรพระราชสมภารตรัสฉะนี้ มารดาของมนุษย์บุรุษสตรีก็ดี เมื่อแรกเกิดในกลละก็เป็นอื่น เมื่อกลละข้นเข้าเป็นอัพพุทะ มารดาก็จะเป็นคนอื่นเมื่อจะเป็นชิ้นมังสัง มารดาก็จะกลายเป็นอื่น เมื่อตั้งฆนะเป็นเนื้อแน่น ตราบเท่าแตกเป็นปัญจสาขากายาบริบูรณ์นั้น มารดาก็จะกลายเป็นอื่น ๆ ไปทุกที ตราบเท่าออกจากครรภ์มารดายังเป็นทารกอยู่ มารดาก็จะกลายเป็นมารดาอื่น ครั้นจำเริญใหญ่ มารดาก็จะกลายเป็นคนอื่น นี่มารดาก็ยืนอยู่ผู้เดียวมิได้กลับไปเป็นอื่น ถ้าจะถือว่าตัวกลายเป็นผู้อื่นแล้ว นับถือไว้ว่าเป็นมารดาทำไม อนึ่งเล่าเรียนศิลปศาสตร์ไว้แต่น้อย ครั้นใหญ่โตแก่เฒ่าไป ศิลปศาสตร์ที่เล่าเรียนไว้ก็จะมิพลอยกลายตามกายแก่เฒ่าไปด้วยหรือ ก็เมื่อเปล่าทีเดียว ไฉนจึงจะทรงพระดำริผิดไปฉะนี้เล่า ขอถวายพระพร
ฝ่ายพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร จึงตรัสว่าเมื่อเป็นไปอย่างนี้เล่า พระผู้เป็นเจ้าจะเห็นเป็นกระไร จงวิสัชนาไปในกาลบัดนี้
พระนาคเสนจึงมีวาจาถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐยิ่งมิ่งมหาศาล เปรียบปานเหมือนอาตมาฉะนี้แล เมื่อยังเป็นทารกอยู่ก็ตัวอาตมา ครั้นว่าจำเริญใหญ่มาก็ตัวของอาตมา จะได้กลับกลายเป็นอื่นหามิได้ เมื่อบพิตรตรัสว่า เมื่อน้อย ๆ เป็นผู้นี้เมื่อใหญ่เป็นผู้อื่น ก็ถ้าเมื่อเล็กนั้นตีนด้วน หัวด้วน หูฉีก ปากแหว่งก็ดี ถ้าใหญ่ขึ้นกลายเป็นอื่นได้ก็จะกลับกลายมีกายเป็นปรกติหาตำหนิมิได้ นี้แหละรูปเข้าใจแรกเกิดเป็นสตรีก็เป็นสตรีเป็นชายก็เป็นชาย ถึงมาตรว่าอุภโตพยัญชนกะที่ข้างเป็นชาย ข้างแรมกลายเป็นสตรีนั้นก็ดีดวงจิตก็ดวงเดียว รูปก็เดียวนั้น จะได้เป็นอื่นหามิได้ เช่นอาตมาฉะนี้ เมื่อน้อยก็ตัวอาตมาเมื่อใหญ่จนได้บรรพชานี้ก็ตัวอาตมา ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรจึงตรัสประภาษว่า โยมนี้ยังสงสัย นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาอุปไมยให้แจ้งก่อน
พระนาคเสนถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ปานประดุจประทีปอันเดียวบุคคลตามไว้แต่หัวค่ำจนรุ่ง จึงใส่ไส้เติมน้ำมันไปกว่าจะรุ่ง ตามไว้เมื่อปฐมยามนั้นจะเป็นประทีปอื่น หรือว่าในมัชฌิมยามมิใช่ประทีปนั้น เป็นประทีปอื่น หรือว่าในปัจฉิมยามล่วงแล้วมิใช่ประทีปนั้น จะได้เป็นประทีปอันอื่นหรือประการใด
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนครจึงมีพระบวรราชโองการตรัสว่า จะเป็นประทีปอื่นหามิได้ประทีปในปฐมยามตามไว้ก็เป็นประทีปอันนั้น เมื่อมัชฌิมยามตามอยู่ก็ประทีปอันนั้น เมื่อปัจฉิมยามตามไว้ก็ประทีปอันนั้น จะได้เป็นประทีปอันอื่นหามิได้
พระนาคเสนเจ้าซักถามว่า เพราะเหตุอะไรเล่า มหาบพิตรพระราชสมภาร
สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีพระราชโองการแก้ว่า เพราะเหตุว่าประทีปอันเดียวตามไว้
พระนาคเสนถวายพระพรว่า ประทีปอันเดียวตามไว้มิได้กลายเป็นอื่นไป มีครุวนา ฉันใดก็ดี ธรรมสันตติสืบสายแห่งรูปธรรมนามธรรมขอสัตว์ที่เกิดมรด้วยจิตปฏิสนธิคือจิตเกิดมานั้น และสืบสายแห่งรูปธรรมนามธรรมนี้ เดิมเมื่อยังไม่ปฏิสนธิคือยังไม่เกิดมานั้น เมื่อจะบังเกิดเมื่อจะดับก็ดี ธรรมอันอื่นจะเกิดก็ดี ธรรมอันอื่นจะดับก็ดี ครั้นปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นรูปธรรมกับนามธรรมนี้ ก็เกิดขึ้นพร้อมกันไม่ก่อนไม่หลังกัน สัตว์ที่เกิดมาด้วยจิตปฏิสนธินั้นถึงจะจำเริญใหญ่แก่เฒ่าไปประการใดก็ดี จะได้เป็นจิตอื่นรูปอื่นหามิได้ คือปัจฉิมวิญญาณจิต จิตแรกปฏิสนธิเกิดมานั้น จะได้เป็นสัตว์อื่นจิตอื่นหามิได้ ก็จิตดวงเดียวเมื่อเกิดนั้นเหมือนประทีปดวงเดียวตามไว้ตั้งแต่ปฐมยามตราบเท่าปัจฉิมยามนั้น ขอถวายพระพร
ขณะนั้นพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีพระบวรราชโองการตรัสว่า ปัญหานี้โยมยังสงสัยนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาอุปไมยให้ภิยโยภาวะยิ่งไปกว่านี้
พระนาคเสนจึงถวายอุปมาสืบไปอีกเล่าว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐยิ่งมิ่งมหาศาล ขอถวายพระพร เปรียบปานประดุจน้ำนมโค ที่บุคคลรีดแล้วใส่ภาชนะขังไว้นาน เวลากาลล่วงไปก็กลายเป็นทธิ แล้วนานเข้าก็เป็นนวนีตะเป็นเปรียงไป ก็คนทั้งหลายจะเรียกอย่างไร จะเรียกว่านวนีตะใช่น้ำนม ทธิใช่น้ำนม เปรียงใช่น้ำนม จะเรียกฉะนี้หรือประการใด
พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีตรัสว่าหามิได้ เขาไม่เรียกอย่างนั้น เขาก็เรียกว่าน้ำนมนวนีตะ นมทธิ นมเปรียง อาศัยน้ำมนเดิมนั้น
พระนาคเสนถวายพระพรว่า ฉันใดก็ดี ธรรมสันตติคือสืบต่อเป็นรูปธรรม นามธรรมตั้งขึ้นเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นจิตแล้วจะจำเริญวัยใหญ่โตแก่เฒ่าไปประการใด ก็ถึงซึ่งคงเรียกว่าจิตแรกเกิดนั้น จะเป็นจิตอื่นจะเป็นผู้อื่นไปหามิได้ อุปไมยดุจนมโคอันกลายเป็นนวนีตะเป็นเปรียงนั้นใช่อื่นคือนมนั่นเอง ขอบพิตรพระราชสมภารจงทราบพระญาณเถิด ขอถวายพระพร
พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นประชากรได้ฟังก็ยินดีปรีดา มีพระราชโองการตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าอุปมานี้สมควรกับปัญหาในกาลบัดนี้
ธัมมสันตติปัญหา คำรบ ๑ จบเท่านี้
(๒๐) นับปฏิสนธิคหณปัญหา คำรบ ๒.
ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการถามอรรถปัญหาอื่นสืบไปอีกเล่าว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า อันว่าบุคคลผู้ใด ไม่เกิดอีกในชาติเบื้องหน้า บุคคลผู้นั้นรู้ตัวหรือไม่ว่าอาตมานี้จะไม่เกิดต่อไป จะรู้กระนี้หรือว่าหามิได้
พระนาคเสนผู้ปรีชาแก้ไขว่ารู้ซิ ขอถวายพระพร
พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสซักว่า เมื่อผู้นั้นไม่เกิดแล้วทำไมจึงรู้
พระนาคเสนผู้ประเสริฐแก้ไขว่า เหตุปัจจัยที่ไม่เกิดต่อไปนั้น ดับหมด ไม่มี เหตุฉะนี้จึงรู้ว่า อาตมานี้ไม่เกิดเป็นรูปเป็นจิตต่อไป ขอถวายพระพร
พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ตรัสว่า นิมนต์อุปมาให้แจ้งก่อน
พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานประดุจคหบดีชาวนา ถากไร่ไถนาด้วยตน ทำลงคงเส้นคงวา นับนาได้หลายอัน ครั้งถากไถดะแปรเสร็จแล้วมินาน ก็หว่านข้าวลงในนา ครั้นถึงกำหนดห้าเดือนหกเดือนจึงเป็นรวงสุกแล้วก็เตือนให้ข้าสินไถ่ไปเกี่ยวข้าว บรรทุกลงล้อเกวียน ลากเข็มมาริมบ้าน กองไว้ในลานนวดฟั้นแล้วขนข้าวนั้นขึ้นใส่ไว้เต็มยุ้งในปีแรกทำนั้น ครั้นรุ่งปีใหม่ คหบดีก็ถากไถไร่นาตามอาตมาเคยทำนั้น หว่านข้าวปลูกลงนาตามเคยหว่านมา ถ้าน้ำดีปีใหม่ข้าวไม่เสียหายคหบดีนายนาจะรู้หรือไม่ ว่าข้าวปลูกที่หว่านลงไว้จะได้เต็มยุ้งเท่าเก่า
พระเจ้ากรุงมิลินท์ตรัสว่า คหบดีนั้นเขารู้ซิ พระผู้เป็นเจ้า
ขอถวายพระพร เขารู้ด้วยเหตุอะไร
ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เขารู้ด้วยเหตุปัจจัยอันแรกระทำนั้นเต็มยุ้ง ครั้นปีใหม่เขาก็กระทำเท่าที่เคยกระทำนั้น จึงรู้ว่าจะเต็มยุ้งพอกินไป
ขอถวายพระพร ฉันใดก็ดี พระโยคาวจรที่ไม่เกิดต่อไปอีกชาติหน้า ก็รู้ว่าเหตุปัจจัยที่แต่งให้เวียนว่ายเกิดตายในวัฏสงสาร นานช้าจะคณนานับมิได้ และเหตุปัจจัยนั้นสิ้นไป ท่านก็เข้าใจว่า อาตมานี้จะมิได้เกิดต่อไปอีกในภพเบื้องหน้า บรมบพิตรจงทราบด้วยอุปมานี้พระเจ้ามิลินท์ได้ทรงฟัง ก็ยินดีปรีดาว่าพระผู้เป็นเจ้าอุปมานี้ สมควรกับปัญหาในกาลบัดนี้
นับปฏิสนธิคหณปัญหา คำรบ ๒ จบเท่านี้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น