วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มิลินทปัญหา(๔)


(๒๒) บรรลุพระอรหัตต์.
 
     ในกาลนั้นยังมีพระติสสทัตตภิกขุรูปหนึ่งไปเรียนพระพุทธวจนะเป็นสิงหลภาษาในเมืองลังกาจบแล้ว ปรารถนาจะเรียนพระพุทธวจนะอันเป็นมคธภาษา จึงโดยสารสำเภามาสู่ชมพูทวีปนี้ จึงไปสู่สำนักพระธรรมรักขิต นมัสการแล้วก็ประดิษฐานอยู่ที่นั้น ได้ยินคำพระนาคเสนว่าจะขอเรียนพระพุทธวจนะดังนั้น จึงว่าขึ้นบ้างว่า ข้าพเจ้าอุตส่าห์มาแต่ลังกาก็ปรารถนาว่าจะเรียนพระพุทธวจนะ ขอพระคุณเจ้าจงบอกพระพุทธวจนะให้แก่ข้าพเจ้าเถิด ฝ่ายว่าพระธรรมรักขิตนั้นจึงว่ากับพระนาคเสนว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านจงเรียนพระพุทธวจนะให้พร้อมกันด้วยเจ้ากูติสสทัตตะ จงสังวัธยายให้พร้อมกันทีเดียวอย่าร้อนรนเลย เราจะบอกให้แก่ท่านพร้อมกันทีเดียวในกาลบัดนี้ พระนาคเสนจึงว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้ามิอาจที่จะเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกันด้วยคำสิงหลภาษาได้ ด้วยพระติสสทัตตะนี้เจรจาเป็นสิงหลภาษาด้วยประการดังนี้เป็นคำปุจฉาว่า เหตุไฉนเมื่อพระอาจารย์ว่า จะให้พระติสสทัตกับพระนาคเสนเรียนพระพุทธวจนะพร้อมกัน พระนาคเสนนั้นว่าไม่เรียนพร้อมกัน ด้วยพระติสสทัตกล่าวคำสิงหลภาษาวิสัชนาว่า พระนาคเสนสำคัญว่า อาจารย์จะบอกพระพุทธพจน์เป็นคำสิงหลภาษาสิงหลภาษานี้เป็นคำวิเศษ คนชาวประเทศสาคลราชธานีจะได้เข้าใจหามิได้ พระนาคเสนนั้นตั้งใจ จะเรียนพระพุทธวจนะที่จะให้เข้าใจชาวสาคลนคร มีกรุงมิลินท์นรินทรเป็นประธาน เหตุฉะนี้จึงขัดอาจารย์ อาจารย์ว่าให้เรียนด้วยกันถ้วนถึง ๓ ครั้ง พระนาคเสนถอยหลังคิดไว้ว่าอาจารย์ไม่บอกโดยสิงหลภาษาดอก จะบอกเป็นมคธภาษา แล้วพระนาคเสนมาดำริว่า อาตมา กล่าวถ้อยคำว่าไม่เรียนด้วยชีต้น สิงหลภาษานี้เป็นคำไม่ดี ดูหยาบช้าเป็นภาริยกรรมเกินนักหนา พระนาคเสนคิดแล้วจึงขอขมาพระติสสทัต พระติสสทัตก็รับขมาว่าสาธุ แต่นั้นมา พระนาคเสนก็เรียนพระพุทธวจนะในสำนักพระธรรมรักขิตพร้อมด้วยพระติสสทัตตเถระ ท่องสังวัธยายทีฆนิกายด้วยนิเทศสำแดงเหมือนกันอันเดียวกัน ก็เรียนพระพุทธวจนะเป็นพยัญชนะนั้น ๓ เดือนเรียนพระพุทธวจนะเป็นอรรถกถา ๓ เดือน สิริเป็น ๖ เดือนด้วยกันจงจบพระไตรปิฎกทั้งตัวและอรรถกถา พระธรรมรักขิตเห็นพระนาคเสนเป็นปุถุชนอยู่ จึงมีเถรวาจาเป็นทางจะให้รู้โดยคำอุปมาว่า ดูกรนาคเสนภิกษุ ธรรมดาว่านายโคบาลเลี้ยงโคไม่รู้จักรสนมโค ผู้อื่นได้ซึ่งน้ำนมโคกินรู้จักรสน้ำนมโคว่ามันหวาน แม้เปรียบปานฉันใด บุคคลที่เป็นปุถุชนหนาไปด้วยราคาทิกิเลส จะทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎกอันวิเศษนี้ มิได้รู้รสแห่งสามัญภาคี คือมรรคผลอันเป็นส่วนควรแก่สมณะ เปรียบปานเหมือนยายโคบาลรับจ้างท่านเลี้ยงโค และรีดนมโคขายมิได้ซิมลิ้มเลียรสนมโคฉันใด ท่านจงรู้ด้วยประการดังนี้ พระนาคเสนได้ฟังคาถาอุปมา จึงมีวาจาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ได้โปรดงดพระพุทธวจนะก่อน ที่พระผู้เป็นเจ้าสั่งสอนกำหนดเท่านั้น ข้าพเจ้าจะผ่อนผันพิจารณาดูให้รู้รสสามัญภาคี พระนาคเสนว่าเท่านี้แล้วก็ลามาสู่อาวาส ปัญญาฉลาดปลงลงในวิปัสสนากรรมฐาน ส่องปัญญาญาณไป ก็ได้สำเร็จในพระจตุราริยสัจ ก็ได้พระอรหัตตปฏิสัมภิทา โดยภาคราตรีวันพระธรรมรักขิตเถระให้นัยนั้นแท้จริง ขณะนั้นเกิดอัศจจรย์ แผ่นดินบันลือลั่นหวั่นไหวไปมาเหตุฉะนี้ พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวพระคาถาว่าอันว่าหีบอันบีบน้ำอ้อยเสียงสนั่นฉันใด แผ่นดินก็กึกก้องร้องหวั่นไหวไปมีอุปไมยเหมือนดังนั้น อันว่าหีบบีบน้ำมัน ทุบตีน้ำมันด้วยกงจักรหันผัดผันไป มีครุวนาฉันใด เมทนีไหวหวั่นเวียนไปก็ปานกัน สาครก็สนั่นเป็นระลอกชลาสินธุ์ อันว่าพระยาเขาเมรุมาศ โอนมิ ก็โน้นยอดเอนเอียง อันว่าสัททะสำเนียงเสียงกระหึ่มหึ่งหึ่ง ก็ระดมดังอึงไปเกลื่อนกลุ้ม ในสิเนรุราชสิขรเขาหลวงหลักโลกเลิศกว่าเขาทั้งปวง ปางนั้นชั้นฉกามาพจรหมู่อมรสุรางคนิกรก็สโมสรสาธุการเชยชม พรหมเจ้าฟ้าในมหาโสฬส เสียงตบพระหัตถ์ตรัสสรรเสริญซึ่งศีลคุณห่าฝนทิพยจันทน์จุณมณฑาทิพบุปผา ในช่อชั้นฟ้าทุกเภทพรรณ ยิ่งตกลงมาประหนึ่งว่าจะมีวิญญาณบูชาขณะเมื่อพระผู้เป็นเจ้าได้บรรลุพระอรหัตตาภิเษกเป็นอริยเอกอรหันต์ในกาลนั้น


(๒๓) รับเถรบัญชา.
   แท้จริงสมัยปางนั้นโสด พระอรหันต์เจ้า๑๐๐ โกฏิอันสถิต ณ ถ้ำรักขิตเลณะทราบว่าพระนาคเสนสำเร็จอภินิหาร ก็ใช้พระขีณาสวทูตนำข่าวสารบัญชาการให้หาพระนาคเสน พระนาคเสนก็เข้าฌานบัดเดี๋ยวก็อันตรธานหายมาปรากฏขึ้นที่บรรพคูหาหิมพานต์ แล้วนมัสการถามว่า ข้าแต่พระสงฆ์เถระ ท่านทั้งปวงให้หาข้าพเจ้ามาด้วยกิจเป็นประการใด ฝ่ายว่าพระสงฆ์เถรเจ้าทั้งปวงนั้นจึงมีเถรวาจาบอกว่า ดูกรอาวุโส บัดนี้สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนครนั้นเบียดเบียนพระอรหันต์และพระภิกษุทั้งหลายนัก ตั้งแต่จะเที่ยวซักถามปริศนา และหาบุคคลผู้ใดจะพยากรณ์กล่าวแก้ไม่ได้ ก็อาวุโสจงไปแก้ไขปริศนา ทรมานพระยามิลินท์ให้เสียพยศอันร้าย พระนาคเสนจึงว่า อย่าว่าแต่พระยามิลินท์เลย บรรดาพระยาอยู่ในชมพูทวีปที่มีปัญหาเหมือนพระยามิลินท์ ถึงจะซ้อนตัวต่อศีรษะกันเข้ามาซักถามปัญหาตื้นลึกประการใด ข้าพเจ้าจะแก้ให้สิ้นสงสัยให้มีพระทัยยินดี นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงนี้อย่าช้า จงไปสู่สำนักพระเจ้ามิลินท์ ณ เมืองสาคลนคร อย่างได้ปรารมภ์สะดุ้งหวั่นไหวจงมาไปกับข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ ฝ่ายว่าพระมหาเถรเจ้าทั้งหลายก็กระทำกาสาวปโชติ ครั้นย้อมตากลำดับพับจีบแล้วก็จับบาตรบริขารที่จะคมนาการมากับพระนาคเสน

(๒๔) พระอายุบาล.
 
     แม้ในสมัยปางนั้น ยังมีพระมหาเถระผู้หนึ่งมีนามกรชื่อว่าพระอายุบาล ชำนาญในนิกาย ๕ พระผู้เป็นเจ้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ ในกาลนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทร์บรมกษัตริย์ทรงพระดำริในพระทัยว่า แท้จริงสมณะและพราหมณ์ทั้งหลายนั้นพระอรหันต์ก็ดี แต่บรรดาที่เป็นเจ้าคณะเจ้าหมู่ ใครผู้ใดหนอที่จะรู้พระพุทธวจนะ แก้ไขวิมติสงสัยของอาตมา อาตมาจะเข้าไปสู่หาผู้นั้น ราตรีวันนี้งามด้วยรัศมีพระจันทร์แจ้งกระจ่างปราศมลทินโทษ ทรงพระดำริแล้วก็โปรดมีพระราชโองการตรัสถามราชเสวกโยนก ๕๐๐ เหมือนทรงพระราชดำรินี้ ข้าราชการก็ทูลว่ายังมีพระโองการประภาษให้อำมาตย์คนหนึ่ง ออกไปบอกพระอายุบาลว่า พระโองการประภาษจะออกมาหาสนทนากัน ส่วนพระอายุบาลนั้นก็ว่าจะเสด็จมาก็เสด็จเถิด อำมาตย์จึงเอาถ้อยคำพระอายุบาลนี้ไปกราบทูล สมเด็จพระเจ้าธรณีบดินทร์มิลินท์บรมกษัตริย์ได้ทรงฟังก็หรรษา มีหมู่โยนกเสนา ๕๐๐ แวดล้อมแห่ห้อมเป็นยศบริวาร ส่วนสมเด็จพระภูมิบาลเสด็จด้วยรถทรงเทียมด้วยสินธพงามบรรจง พร้อมด้วยจตุรงคนิกรโยธีเสนีเสนามิข้าก็ถึงบริเวณจังหวัด สมเด็จพระเจ้ามิลินทร์ปิ่นกษัตริย์มีพระราชโองการตรัสให้หยุดพิชัยราชรถทรงไว้ เสด็จไปด้วยบวรเบื้องบาทเปล่า เข้าสู่สำนักพระอายุบาล นมัสการแล้วกระทำปฏิสันถารโอภาษปราศรัยกันไปมาจึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า อันว่าบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้านี้ เป็นอรรถอันอุดมอย่างไร พระอายุบาลแก้ไขวิสัชนาว่า ดูรานะบพิตร อันว่าบรรพชานี้ จัดว่าเป็นธรรมจริยาและสมจริยา ประพฤติจะให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่ฝูงเทวดาและมหาชน ฉะนี้เหมือนขอถวายพระพร สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นริทรจอมกษัตริย์คัดข้อซักถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าถ้าว่าเป็นฆราวาสเล่าเป็นธรรรมจารี ประพฤติในธรรมเสมอในธรรมเป็นอันดีจะมีวิเศษข้างหรือหามิได้ พระอายุบาลแก้ไขว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ฆราวาสที่ประกอบการเป็นธรรมจารีสมจารี ยินดีเลื่อมใสเชื่อพระรัตนตรัย สมาทานถือไว้มั่นคงทรงศีล ๕ ประการ ๘ ประการ ให้ทานภาวนาอุตส่าห์ฟังธรรม ชื่อว่าเป็นธรรมจารีสมาจารี ก็จัดว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์เป็นผลแก่อมรคณานิกรมหาชน ครั้งเมื่อสมเด็จพระทศพลยังมีพระชนมายุอยู่นั้นโสดเสด็จยังพาราณสีนครโปรดประทานธรรมเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ภิกขุในป่าอิสิปตนมิคทายวัน ครั้นจบลงแล้ว พรหมทั้งหลาย ๑๘ โกฏิได้ฟังก็สำเร็จประโยชน์ได้มรรคผลเป็นอริยบุคคลอันอุดม พรหมทั้งหลายย่อมเป็นคฤหัสถ์อยู่หมด จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้ ครั้งสมเด็จพระบรมโลกนาถโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนามหาเวสสันตรปริยาย และขทิรังคารปริยาย ราหุโลวาทปริยายแทบประตูเมืองสังกัส ฝูงบริษัท ๒๐ โกฏิสำเร็จประโยชน์ได้มรรคผล คนทั้งหลายนั้นกับทั้งเทพดาทุกชั้นฉกามาพจรพรหมคณาในห้องโสฬส เป็นคฤหัสถ์หมด จะได้อุปสมบทบรรพชาหามิได้เมื่อพระอายุบาลแก้ไขดังนี้ กรุงมิลินทราธิบดีมีพระโองการตรัสว่า ข้าแต่พระอายุบาลผู้เป็นเจ้า คฤหัสถ์เหล่านั้นกับบรรพชาของพระผู้เป็นเจ้านี้ก็เสมอกัน สุดแท้แต่ว่าใครปรนนิบัติดีแล้วก็ได้มรรคผลเสมอกัน ที่ถือบรรพชาดุจสมณะทั้งหลายอันเป็นสากยบุตรพุทธชิโนรสของสมเด็จพระทศพลเจ้าอันทรงธุดงค์ต่าง ๆ นั้น ชะรอยว่ากรรมได้สร้างแต่ปางหลังถือเอกาฉันจังหันหนเดียว แต่ชาติก่อนเป็นโจรเที่ยวปล้นชาวบ้านไปตีชิงอาหารเขา ครั้นชาตินี้เล่าผลกรรมนั้นดลจิตให้ฉันหนเดียวดูบรรพชานี้ไม่มีผล ถึงจะรักษาศีลสังวรวินัยก็ไม่มีผลและที่ว่าจะรักษาตบะฌานก็ไม่มีผล จะรักษาซึ่งพรหมจรรย์ก็ฃไม่มีแล้ว พระผู้เป็นเจ้า ประการหนึ่งเล่า ที่ท่านถือธุดงค์อัพโภกาสมิได้อยู่ในเสนาสนะ แต่ปุพพชาติก่อนนั้นเป็นโจรเที่ยวปล้นกระทำอกุศลทุจริตร้ายทำลายบ้านเรือนท่าน ให้เจ้าของต้องทรมานกินกลางดอนนอนอนาถาหาอาสนะมิได้ ผลอกุศลก็ดลใจ ให้ถืออัพโภกาสหาอาสนะนั่งนอนมิได้ ธุดงคคุณที่รักษาไว้จะได้ชื่อว่าศีลก็หามิได้ จะเป็นตบะหามิได้ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้สูญเปล่า ประการหนึ่งเล่าที่ท่านถือธุดงค์อันชื่อว่าเนสัชชิกนั่งลืมจักษุอยู่ไม่จำวัดนั้น ชะรอยชาติก่อนจะเป็นโจรหยาบช้า เป็นโจรใจร้ายมาคอยปล้นที่หนทางตีต่างตีเกวียนเบียนบุกบั่นเข้าตีรัน ครั้นจับเข้าของได้ก็ผูกมัดรัดมือไว้เก็บเอาข้าวของโคกระบือไป ได้กระทำไว้แต่ชาติหลังนั้น จึงเผอิญให้สำคัญผูกพันเอาเนสัชชิกธุดงค์ จะนอนลงมิได้นั่งลำบากตากตาอยู่ โยมคิดดูซึ่งธุดงค์นี้ไม่มีผลจะเป็นศีลก็หามิได้ จะเป็นตบะก็หามิได้ จะเป็นพรหมจรรย์ก็หามิได้ ก็จะบรรพชารักษาธุดงค์ไปต้องการอะไรปรนนิบัติในคฤหัสถ์ก็ได้มรรคผลเหมือนกันแล้วนี้ เป็นคฤหัสถ์อยู่มิดีกว่าหรือนะ พระผู้เป็นเจ้าเมื่อบรมปิ่นกษัตริย์ตรัสเท่านี้ พระอายุบาลขี้คร้านที่จะตอบกระแสพระโองการก็ดุษณีภาพนิ่งไปมิได้ถวายพระพรโต้ตอบต่อข้าปัญหา โยนกข้าหลวงทั้งปวง ๕๐๐ นั้นก็อภิวันท์ทูลว่า ข้าแต่บพิตรผู้สถิดในสังคหวัตถุการ พระอายุบาลนี้ท่านชำนาญนิกาย ๕ ไม่แกล้วกล้าที่จะวิสัชนา จึงมิได้โต้ตอบพจนารถพระราชปุจฉา ในกาลบัดนี้

(๒๕) ได้ข่าวพระนาคเสน.

อันดับนั้น สมเด็จพระเจ้ามิลินท์นริทรราชเรืองเดช จะได้ทรงสังเกตนับถือถ้อยคำข้าราชการทูลเฉลยนั้นหามิได้ เห็นพระอายุบาลนิ่งไปก็ตบพระหัตถ์ตรัสเย้ยว่า ดูกรโยนกทั้งปวงเอ๋ย อาตมาคิดดูทวีปชมพูนี้สิ้นสุด โอ้มาสูญแล้วแท้จริงจากบุคคลที่มีปัญญายอดยิ่งปรีชาชาญหรือว่าสมณพรหมณาจารย์ผู้ใดที่ปรีชาเชี่ยวชาญเป็นอาจารย์เจ้าหมู่เจ้าคณะ และหมู่สงฆ์อันได้เรียนรู้ธรรมะของสมเด็จพระพุทธองค์ อาจจะแก้วิมติสงสัยของอาตมานี้ได้ เห็นทีจะสิ้นสุดเสียครั้งนี้แล้วหนอ ฝ่ายโยนกได้ฟังก็มิได้ตอบต่อสนองทูลฉลองพระโองการ ส่วนพระอายุบาลเห็นอาการดังนั้นจึงดำริว่า แท้จริงเราเป็นสมณะไม่ควรที่จะทุ่มเถียงไปมา ที่จริงปัญหานี้จะวิสัชนาให้ฟังอีกก็มิได้ตอบต่อสนองทูลจะทะเลาะวิวาท ข้อซึ่งอาตมาไม่แก้ปัญหา จะพาพระพุทธศาสนาให้เสื่อมเศร้าไปเป็นว่าหามิได้ ดำริในใจฉะนี้แล้วพลางทางอุฏฐาการไปจากสถานที่นั้น ส่วนสมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นทวีปชมพูก็เข้าสู่พระนคร ตั้งแต่จะทรงพระอนุสรณ์รำพึงที่จะถามปัญหาจึงตรัสถามโยนกข้าหลวงทั้งปวงว่า ยังจะมีพระภิกษุรูปใดที่ปรีชาฉลาด อาจจะแก้ปัญหาพาให้เราสิ้นสงสัยมีที่ไหนบ้าง โยนกข้าหลวงทั้งปวงได้ฟังก็ถวายบังคมและก้มหน้านิ่งไป จึงมีพระโองการถามไถ่เนมิตติยอำมาตย์ผู้ฉลาดอีกเล่า วันนั้นพอเนมิตติยอำมาตย์ได้ฟังเขาเล่าลือมาว่า พระนาคเสนเจ้าพระองค์หนึ่งผู้มีอายุมิ่งมงกุฎวิสุทธิสงฆ์องค์เอกอเสกขบุคคล รู้มนตราไตรเพทวิเศษในไสยศาสตร์รู้พุทธโอวาทเจนจัด พระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ ปริยัติไตรเพทสุตตันตะไตรเพท รู้ปฏิเวธธรรมาคมอุดมกว่าธีราธีรชาติ มีราคาทิกิเลสขาดสูญแล้วจากสันดานควรแก่เครื่องสักการ อันมนุษย์อินทร์พรหมยักษ์หมู่นาคหากจะบูชา มีปัญญาดุจหนึ่งมหาสมุทรสาครอันขจร ด้วยระลอกชลธี อาจจะกำจัดเสียซึ่งคำเดียรถีย์อันกล่าวติเตียนเป็นเสี้ยนหนามความมิดี เมื่อจะแปลบาลีก็รุ่งโรจน์ไพเราะแก่โสตประสาท เมื่อจะประกาศซึ่งคำสั่งสอน ๙ ประการแห่งสมเด็จพระชินวร ก็มีพระกรกุมแก้วกล่าวแล้วคือพระศาสนา ยกขึ้นเชิดชูแก่หมู่ประชาให้เห็นแสง เมื่อจัดแจงยกขึ้นซึ่งเครื่องบูชาสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ เมื่อจะตั้งซึ่งเสาเตว็ดปักซึ่งธรรมให้รอบโลกเลิศล้ำไตรภพพื้นธรณี เมื่อจะประโคมธรรมดนตรีตีสังขเภรี ดีดกระจับปี่ และสีซอโทนรำมะนา ดนตรี อันนับได้ ๔ กล่าวคือปรีชาจะชี้แจงให้เห็นในพระจตุราริยสังธรรมทั้ง ๔ ตามพุทโธวาทเมื่อจะเปล่งออกซึ่งธรรมคเวนทรอุสุเภนทรนาทสิงหประกาศอันไพเราะโสตประสาทเมื่อจะยังอากาศให้พิลึกกึกก้องเรืองรองด้วยสายฟ้า คือปรีชาคะนองและเสียงเมฆสนั่นก้องโกลาหล ยังห่าฝนให้ตกพรมพรำลงมาเย็นเกศาสกลโลกธาตุทวีปชมพู ประกอบด้วยหมู่สงฆ์ล้อมซ้ายขวา ก็อัญชลีลาพระขีณาสพ ๑๐๐ โกฏิ น้อมศิโรตม์นบนอบประทักษิณ สิ้นตติยวารเวียนสามรอบ แล้วลีลาจากคูหาห้องหิมพานต์ เที่ยวสำราญจาริกมาตามคามชนบทนิคมปัจจันตราชธานี บันลือซึ่งธรรมเภรีเสียงกลองกล่าวคือธรรมอันวิเศษ เทศนาโปรดฝูงประชาชนในตำบล บ้านน้อย เมืองใหญ่กรุงกษัตริย์สามนต์มา โดยลำดับดังนี้ ก็ถึงกรุงสาคลราชธานี อันเป็นที่อยู่แห่งกรุงมิลินท์ปิ่นทวีปเวียงชัย พระผู้เป็นเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในอสงไขยบริเวณ อันเป็นที่อยู่แห่งพระอายุบาลก็มีในกาลนั้น


(๒๖) นิมนต์พระนาคเสน.
     นี่แหละเนมิตติยอำมาตย์ เมื่อสมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทรราช ประภาษถามทราบความฉะนี้ จึงกราบทูล ข้าแต่สมเด็จบรมบพิตรผู้ท่านพิภพเวียงชัย อย่าได้ทรงพระดำริเร่าร้อนพระทัยเลย บัดนี้ยังมีพระภิกษุองค์หนึ่งยิ่งยอดปรีชาโฉมงามมีนามชื่อว่านาคเสนแสนฉลาดชาติพหุสูต ทรงสุตตันตะไตรปิฎก เป็นสงฆปริณายกอันวิเศษสำเร็จปฏิเวธธรรมมรรคผล เป็นอัครบุคคลเลิศล้ำ ได้ปฏิสัมภิทาธรรม ชำนาญฌานวสีบารมีธรรมถ้วนกำหนดเป็นอัครชิโนรสเรืองชำนาญปรีชา ทุกเทพชั้นฉ้อกามาองค์อมรินทร์ดาวดึงสา สุยามยมวรุณกุเวรเสสวัณธตรฐ หมดทั้งท้าวมหาพรหมเป็นบรมบิดามหาแห่งโลกเลิศประเสริฐกว่าสรวงสวรรค์ย่อมมาถามซึ่งปัญหา น้อมเกศาเศียรระเนนแทบเบื้องบาทพระนาคเสนสิ้น ประสาอะไรกับมนุษย์เดินดินจะอวดดี ตั้งแต่นี้อย่าได้ทรงพระดำริวิตกวิจารณ์ ล้นเกล้าล้นกระหม่อมจงทราบในพระบวรปรีชาญาณด้วยประการดังนี้ ลำดับกาลปางนั้นแท้จริง สมเด็จบรมมิ่งมงกุฎกษัตริย์ขัตติยภูมินทร์มิลินทราช ทรงฟังเนมิตติยอำมาตย์ออกนามว่าพระนาคเสน ขณะนั้นพระทัยเธอไหวหวั่นพระโลมาพองสยองพระเกศ กลัวเดชพระนาคเสนผู้วิเศษนี้ครัน ๆ มีราชโองการสั่งเทวมันติย อำมาตย์เร็วพลันว่า ดูกรเทวมันติยอำมาตย์เอ๋ย อย่าอยู่ช้าเลย สูชาวเจ้าจงออกไปยังอสงไขยบริเวณ นิมนต์พระนาคเสนผู้เป็นเจ้าเข้ามายังราชฐานในกาลบัดนี้ ส่วนเทวมันติยอำมาตย์รับพระราชโองการแล้ว ถอยหลังคลานออกมาจากราชฐาน ขมีขมันให้ทันพระราชหฤทัยจึงใช้มหาดเล็กลูกเวรเป็นทูตไปนิมนต์พระนาคเสนว่า พระโองการให้อาราธนาเข้ามาสู่พระราชฐาน

(๒๗) รับคำนิมนต์.
   ส่วนพระนาคเสนได้ฟังอาการจึงมีเถรวาจาว่า ดูกรทูต ท่านจงกลับไปทูลเถิดว่า อาตมาให้เชิญบรมกษัตริย์ผู้ประเสริฐเสด็จมายังสำนักแห่งอาตมา ส่วนทูตฟังเถรวาจารก็นมัสการลามาขมีขมันเรียนแก่เทวมันติยอำมาตย์ เทวมันติยอำมาตย์ก็เข้าสู่ราชฐานกราบทูลอาการว่า บัดนี้พระนาคเสนจะเข้ามาสู่ราชฐานหามิได้ สั่งให้เชิญเสด็จออกไปที่อสงไขยบริเวณ พระนาคสนถวายพระพรเข้ามาอย่างนี้ ส่วนสมเด็จพระเจ้ามิลินท์นรินทราธิบดี ได้สวนาการทรงฟังก็เสด็จยังพระบวรสุวรรณวิชัยบุษบก พระที่นั่งรถยานอันเทียมด้วยสินธพอาชาชาญ ดูเห็นงามอร่ามเรือง ประเทืองด้วยธงปักงอนรถงามระหง ในธงระบุระบัดพระพายพัดต้องแสงทอง แสงแก้วเรืองรองแวววาวเสนาธนูน้าวเกาทัณฑ์ พลขันธ์แห่หน้าพร้อมด้วยโยธาจตุรงค์ องค์เสนีมี่ก้อง โห่ร้องแห่แหนพลเสนีนับแสนแห่ห้อมล้อมมามีอานุภาพนี้นักหนา ดุจพระสุริยาเยื้องรถบทจรเร่งรีบส่องทวีปเมื่อเวลามัชฌันติกสมัย มิทันใดก็ถึงประตูอสงไขยบริเวณพลัน
จึงสั่งให้ประทับที่นั้น จึงส่งพระขรรค์ให้มหาดเล็กเสด็จลงจากรถยานุมาศ ก็เสด็จดำเนินด้วยพระบาทเปล่า เข้าสู่พระทวารประตูอสงไขยบริเวณ ขณะนั้นพระนาคเสนวิสุทธิสงฆ์องค์เอกอเสกขบุคคลเสด็จอยู่ในมณฑลมาลกะอันงามพรรณราย อธิบายว่าโรงธรรมการบุเรียนใหญ่ มีในกลาอสงไขยบริเวณนั้นมีพระภิกษุแปดสิบพันแวดล้อมหน้าหลัง ดูนี้งามดังท้าวธตรฐมหาหงส์อันลงจับอยู่ที่กลางสระศรีสาโรธ ปราโมทย์ด้วยสกุณหงส์แปดสิบพันเป็นบริวาร ดูนี้งามปานกัน ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์ขัตติยะเรืองเดช ทอดพระเนตรเห็นแต่บริษัทสงฆ์ มิได้รู้จักองค์พระนาคเสนแต่ไกล มีพระโองการไถ่ถามเทวมันติยอำมาตย์ว่า พระนาคเสนผู้ฉลาดองค์ใดนั่งอยู่ที่ไหน เทวมันติยอำมาจย์ผู้ไวปัญญาจึงกราบทูลว่า ขอรับพระราชทาน พระนาคเสนนิสัชนาการนั่งอยู่กลางสงฆ์คือองค์นั้น ครั้นท้าวเธอได้ทัสนาการเห็นพระนาคเสนก็ตกพระทัยบังเกิดพระโลมาพองสยดสยองพระเศียร พระทัยนี้เปลี่ยน ๆ ปิ่มประหนึ่งจะทะลึ่ง ประลาตหนีไป จะมีครุวนาฉันใด อุปไมยเหมือนมนุษย์อันเห็นยักขินีผีเสื้อ เหมือนกวางเห็นเสือเหมือนมฤคีหมู่เนื้ออันเห็ฯสีหราชชาติไกรสร เหมือนพระจันทร์ล้อมด้วยดาวดารากรเยื้องรถพิมานจรจะพบอสุรินทราชราหู เหมือนวิฬาร์กับหนูเหมือนทีฆชาตินาคงูแลเห็นครุฑสุดที่จะกลัวตัวสั่นฉันใด พระเจ้ากรุงมิลินท์ปิ่นพิภพเวียงชัย ทอดพระเนตรเห็นพระนาคเสนแต่ไกลวันนั้นก็กลัวปานกัน น้ำพระทัยนี้ครั่น ๆ พระทัยนี้ไหวหวั่นตั้งมั่นลงมิได้น้ำพระทัยดำริว่า โอ้อาตมานี้แต่อวดดีมานี้ก็นาน หาผู้จะต่อต้านมิได้ อาตมานี้จะถึงปราชัยหักลงไปวันนี้เป็นมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น