วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มิลินทปัญหา(๑๑)


(๑๒) สีลปติฏฐานลักขณปัญหา คำรบ๙.

     พระนาคเสนถวายพระพรว่า มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในทวีปชมพูพื้น กุศลอันอื่นคือศีลบารมีและสติปัฏฐาน สมาธิและปัญญาบารมีเป็นต้นนี้ของถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีถามว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า อันว่าศีลนี้ มีลักษณะอย่างไร นิมนต์วิสัชนาให้แจ้งก่อน
     พระนาคเสนถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร อันว่าศีลนี้มีลักษณะเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง นี้แหละศีลนี้ประเสริฐใหญ่หลวงเป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมทั้งปวง คืออินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ ฌาน ๔ วิโมกขธรรม ๘ สมาธิ ๑ สมาบัติ ๘ ประการ ดูรานะบพิตรพระราชสมภารบุคคลจะไม่ถอยไม่เสื่อมจากกองการกุศลธรรมทั้งปวงนี้ ก็อาศัยศีลเป็นที่ตั้ง ขอถวายพระพร

     พระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรจึงตรัสอาราธนาว่า อุปมาให้โยมเห็นแจ้งก่อน
     พระนาคเสนจึงถวายพระพรอุปมาว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐในราชศฤงคาร เปรียบปานดุจพืชคามภูตคาม พืชคามคือพืชอันแรกงอกขึ้นนั้น และภูตตามได้แก่ต้นไม้ใบหญ้าอันเทวดาสิง อาศัยแผ่นดินแล้วงอกจำเริญแตกหน่อ กอก้านกิ่งใบ ผลิดอกออกผลต้นลำ มีอุปมาฉันใด ขอถวายพระพร พระโยคาวจรก็อาศัยปาติโมกขสังวรวิสุทธิศีลนั้น ยังอินทรีย์ ๕ คือสัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๒ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ให้จำเริญไป ๆ มีอุปไมยเหมือนต้นไม้ใบหญ้าพืชลดาวัลย์อันงอกคร่ำไปอาศัยแก่แผ่นดินนั้น ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาอุปไมย ให้ภิยโยภาวะยิ่งขึ้นไปกว่านี้
     พระนาคเสนองค์อรหาธิบดีก็มีเถรวาจาถวายพระพร ว่า ดูรานะบิตรพระราชสมภาร เปรียบปานประดุจบุคคลทั้งหลายอันกระทำการกสิกรรมการไร่การนา การค้าล้อค้าเกวียนการสถลมารคเป็นการบกดาษไปทั้งพื้นปฐพี ก็อาศัยแก่แผ่นดิน ฉันใด ศีลนี้ก็เป็นตั้งแห่งกุศลธรรม เมื่อโยคาวจรสถิตในปาติโมกขสังวรศีลนั้น ก็ยังปัญจอินทรีย์ ๕ ประการนี้มีอินทรีย์แห่งศรัทธาเป็นต้น คือให้มีศรัทธาเป็นใหญ่จำเริญได้ มีอุปไมยดุจบุคคลทั้งหลายกระทำการอาศัยพื้นแผ่นดินฉะนั้น ขอถวายพระพร
     พระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนคร มีพระราชโองการอาราธนาว่านิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ภิยโยภาวะยิ่งขึ้นไปกว่านี้
     พระนาคเสนผู้ปรีชาจึงอุปมาต่อไปอีกเล่าว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารเจ้าดุจหนึ่งว่าบุคคลมีวิชาการข้างเล่นเต้นโลดลอดบ่วงและวิชาบังเหลื่อมนั้น ย่อมขุดแผ่นดินหินกรวดหลักตอให้ราบรื่นกระทำพื้นภูมิภาคให้เสมดเป็นอันดี อาศัยพื้นแผ่นดินเป็นที่ตั้ง จึงได้แสดงวิชาของอาตมามีครุวนาฉันใด โยคาวจรเจ้าตั้งอยู่ในพระปาติโมกข สังวรศีลอาศัยศีลนั้นก็ยังปัญจอินทรีย์ ๕ คือสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ให้จำเริญขึ้นเปรียบดุจพื้นแผ่นดินอันเป็นที่ตั้ง เหมือนพวกหกคะเมนเต้นโลดลอดบ่วงนั้น ขอถวายพระพร
     พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า ดูรานะบพิตพระราชสมภาร เปรียบดุจนายวัฑฒกีสร้างพระนครราชธานี จึงถางที่ให้เตียน นำเสี้ยนหนามหลักตอตัดโคนให้ราบ ปราบพื้นให้ราบดีแล้วจึงกระทำเป็นราชธานีนคร ฉันใด พระโยคาวตรก็รักษาศีลสังสรให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นอันดี ยังอินทรีย์ ๕ คือสัทธินทรีย์ คือวิริยินทรีย์ คือสตินทรีย์ คือสมาธินทรีย์ คือปัญญินทรีย์ ให้จำเริญเป็นอันดี เหมือนวัฑฒกีอันสร้างนครนั้น ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ทรงได้ยินพระนาคเสนอุปมา มีพระโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาให้ยิ่งกว่านั้น
     พระนาคเสน ถวายพระพรแก่พระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีเป็นอุปมาว่า ยังมีโยธาจตุรงค์อันจะเข้าสู่พิชัยสงครามรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งปัจจามิตรอันมาก็ย่อมหาที่ชัยภูมิอันดี กระทำพื้นปถพีให้ราบปราบให้ดีที่จะตั้งค่ายคู ครั้นศัตรูมา โยธานั้นก็รบชนะมีชัย มีครุวนาฉันใด พระโยคาวจรก็อาศัยศีลสังวรเป็นที่ตั้งยังอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ปัญญินทรีย์ ให้บังเกิดจำเริญในบวรสันดาน เปรียบปานดุจทหารโยธาอันอาศัยกระทำที่ชัยภูมิก่อนจึงมีชัยฉะนั้น อนึ่งเล่าก็สมด้วยพระพุทธฎีกา สมเด็จพระบรมโลกนายกยิ่งบุคคลทศพลญาณตรัสประทานธรรมเทศนาไว้ดังนี้ว่า
สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏนฺติ
อยํ ปติฏฺฐา ธรณีว ปาณีนํ อิทญฺจ มูลํ กุสลาภิวุฑฺฒิยา
มูลมิทํ สพฺพชินานุสาสเน สสีลกฺขนฺโธ วรปาติโมกฺขิโยติ ฯ

     ในกระแสพระพุทธฎีกา ตรัสว่า ฝูงชนคนในมีใจศรัทธา ตั้งอยู่ในศีลรักษาศีลไว้ผู้นั้นแหละได้ชื่อว่า เป็นภิกษุ จำเริญไปในสมาธิจิตและสมาธิปัญญา ก็ยังสมาธิจิตแลสมาธิปัญญาให้จำเริญ ก็จะมีปัญญาแก่กล้า เหตุว่ามีเพียรให้กิเลสเร่าร้อน ก็จะถึงธรรมวิเศษกำจัดเสียซึ่งกิเลสตัณหาภายนอกภายใน ให้ขาดไปจากสันดาน ศีลเป็นเหตุที่จะให้ถาวรเป็นผลเป็นรากเหง้าเป็นลำเป็นต้น ที่จะให้เกิดก่อกองกุศล ดุจปฐพีดลพื้นภูมิภาคแผ่นธรณีอันหนาแน่นได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ อันเป็นที่ตั้งแห่งโขดเขาลำเนาที อันเป็นที่พึ่งแก่นาคครุฑมนุษยนิกรอมรภูตปีศาจสรรพสัตว์ทุกชาติย่อมอาศัยทั่วทิศแดนธรณี มีครุวนาฉันใด ศีลที่รักษาไว้ก็เหมือนกัน ศีลนั้นคือศีลขันธ์ได้แก่พระปาติโมกข์อันประเสริฐ อันจะบังเกิดตั้งมั่นไปในพระพุทธศาสนา ย่อมเป็นที่สั่งสอนสืบมา แห่งสมเด็จพระชิเนนทรสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้น นี่แหละคำอาตมาอันวิสัชนาก็สมด้วยพระพุทธฎีกาโปรดไว้ฉะนี้ขอถวายพระพร
     เมื่อพระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขเป็นอุปมาอุปไมยฉะนี้ สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นธรณีก็ชื่นชมภิรมย์ยินดี ตรัสว่าปัญหาซึ่งพระผู้เป็นเจ้าวิสัชนานี้ก็สมควรนักหนาในกาลบัดนี้

 สีลปติฏฐานลักขณปัญหา คำรบ ๙ จบเท่านี้

(๑๓) สัทธาลักขณปัญหา คำรบ ๑๐.

     สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี มีพระราชโองการตรัสถามอรรถปัญหาต่อไปว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้เจ้าผู้มีปรีชา อันว่าศรัทธานี้มีลักษณะกี่ประการ
     พระนาคเสนถวายพระพรว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร ศรัทธานี้มีลักษณะ ๒ประการคือ สัมปสาทลักขณสัทธาประการ ๑ สัมปักขันทลักขณสัทธาประการ ๑ ขอถวายพระพร
     พระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรมีพระราชโองการซักว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้ประกอบด้วยปรีชา สัมปสาทลักขณสัทธานี้เป็นประการใด
     พระนาคเสนวิสัชนาแก้ไขว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภาร อันว่าสัมปสาทลักขณสัทธานั้นเมื่อจะบังเกิดนั้นข่มขี่เสียซึ่งนิวรณธรรม ให้ดวงจิตนั้นผ่องใส ไม่ขุ่นมัวไปด้วยมลทิน เมื่อจะรักษาศีลให้ทานสวนาการฟังพระสัทธรรมเทศนา และจำเริญเมตตาภาวนา จิตนั้นมีสภาวะผ่องใสอย่างนี้ได้ชื่อว่าสัมปสาทลักขณสัทธา ขอถวายพระพร
     พระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากร มีพระราชโองการตรัสว่า นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอุปมาอุปไมยไปก่อน
     พระนาคเสนถวายพระพรอุปมาว่า ดูรานะพิตรพระราชาสมภาร เปรียบปานดังสมเด็จบรมจักรพรรดิราชอันยกพลจตุรงคนิกรลีวาศไปสู่ประเทศแห่งหนึ่ง จึงข้ามแม่น้ำน้อยนั้นไปด้วยพลหัตถีช้างมา ปรากฏพลบทจรเดินลำลอง ตกว่าท้องน้ำนั้นก็ขุ่นมัวนักหนา พอสมเด็จบรมจักรพรรดิราชนั้นอยากจะเสวยอุทกังเป็นกำลัง จึงมีพระราชโองการสั่งให้ตักเอาอุทกังอันขุ่นมัว ชาวพนักงานกลัวพระราชอาญา จึงตักอุทกังขุ่นนั้นมาใส่ในพระเต้าแก้ว แล้วน้ำนั้นก็ผ่องใสในทันที จึงเอาน้ำในพระเต้าแก้มณีถวายในทันใดนั้น ความนี้ฉันใด สัมปสาทลักขณสัทธานี้ อุปมาดุจพระเต้ามณีกำจัดเสียซึ่งเปือกตมอันขุ่นมัวคือตัวนิวรณธรรมให้สิ้นไปอุทกังก็ผ่องใส ได้แก่ดวงจิตอันมิได้ติดด้วยนิวรณธรรม คือ โลโภ โทโส โมโห จิตปราศจากโทษแล้วก็ผ่องใส อันว่าสัมปสาทลักขณสัทธามีลักษณะดุจเปรียบมาฉะนี้ ขอถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสถามว่า ข้าแต่พระนาคเสนผู้ประกอบด้วยปัญญาปรีชา อันว่าสัมปักขันทลักขณสัทธานี้อย่างไรเล่า
     พระนาคเสนผู้เป็นเจ้าจึงถวายพระพรวิสัชนาว่า ดูรานะบพิตรพระราชสมภารอันว่าสัมปักขันทลักขณสัทธานี้ ได้แก่พระยติโยคาวจรอันมีจิตผ่อนให้เบาจากราคาทิกิเลส ก็ได้ธรรมวิเศษคือ โสดาปัตติมรรคผล และสกิทาคามิมรรคผล อนาคามิมรรคผล อรหัตมรรคผล ได้วิมุตติธรรมฉะนี้ ก็มีจิตแล่นไปในโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล และได้มรรคแล้วจิตแล่นไปเพื่อจะกระทำให้ได้ผล และได้ผลแล้วยังมิได้มรรคผลอันใด ก็กระทำความเพียรเพื่อจะให้ได้มรรคและผลนั้น นี่แหละชื่อว่าสมปักขันณสัทธา ของถวายพระพร
     สมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า นิมนต์อุปมาให้แจ้งก่อน
     พระนาคเสนจึงถวายพระพรอุปมาว่า ดูกรบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจมหาเมฆอันใหญ่อันมากมาเห็นแม่น้ำนั้นก็ชะงักอยู่มิอาจจะข้ามไปได้ ยังมีบุรุษผู้หนึ่งนั้นไซร้บมิได้ปรากฏนามและโคตร โจงกระเบนขัดเขมรโดดโลดโผนลง ก็ข้ามไปได้ถึงฝั่งฟากโพ้น คนเหล่านั้นก็โจนลงในแม่น้ำนั้น เพราะเห็นเพื่อนข้ามได้ ก็ข้ามตามกันไปถึงฝั่งได้สิ้นเพราะดูเยี่ยงกันข้ามตามกัน ฉันใดก็ดี อุปไมยดุจพระโยคาวจรเจ้า ที่เห็นเพื่อนกันมีจิตพ้นจากราคะไปได้ ก็มีน้ำใจแล่นไปในที่จะได้พระโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผลแม้ยังบมิได้ก็กระทำความเพียรไป เพื่อจะให้รู้ซึ่งธรรมอันยังไม่รู้ เพียงไปเพื่อจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันยังไม่แจ้ง เปรียบดังบุรุษอันข้ามน้ำตามกัน และสัมปักขันทลักขณสัทธานี้ มีลักษณะดุจอุปมานี้ ขอถวายพระพร อนึ่งก็สมด้วยพระพุทธฎีกาสมเด็จพระทศพลญาณ โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ดังนี้ว่า
 สทฺธาย ตรติ โอฆํ อปฺปมาเทน อณฺณวํ
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ ปญฺญาย ปริสุชฌตีติ ฯ

     กระแสพระพุทธฎีกาตรัสว่า พระโยคาวจรจะข้ามโอฆะทั้ง ๔ ไปพ้นได้ด้วยสัมปักขันทลักขณสัทธา จะข้ามไปให้พ้นมหาสมุทรสงสารได้ด้วยไม่ประมาทลืมตน จะข้ามไปให้พ้นจากกองทุกข์นี้ด้วยมีวิริยะความเพียร จะบริสุทธิ์สิ้นกิเลสตัณหา ด้วยเฉทลักขณปัญญาอันตัดกิเลส และมิให้บาปธรรมอันข้องขัดเหลือเศษอยู่ในสันดานของอาตมานั้นได้โดยนัยดังวิสัชนามาฉะนี้ นี่แหละโปรดประทานธรรมเทศนาไว้ฉะนี้ ขอถวายพระพร
     ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทรารธิบดีมีพระทัยท้าวเธอหรรษา จึงมีพระราชโองการตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาสมควรในกาลบัดนี้

 สัทธาลักขณปัญหา คำรบ ๑๐ จบเท่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น