วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

มิลินทปัญหา(๒)


(๖) มักขลิโคสาลแก้ปัญหา.
    ส่วนสมเด็จพระเจ้ามิลินท์ก็เสด็จไปยังสำนักมักขลิโคสาล จึงมีพระราชโองการถามว่าข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มนุษย์บุรุษสตรีหญิงชาวโลกนี้ จะกระทำกุศลและอกุศล จะมีผลจะมีประโยชน์หรือหามิได้
ครูมักขลิโคสาลถวายพระพรว่า ข้าแต่บพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ผลบุญผลกรรมไม่มี ท่านที่เป็นกษัตริย์ขัตติยมหาศาลทั้งปวง ครั้นถึงแก่ทิวงคตล่วงไปแล้ว จะเกิดมาในโลกเล่าเคยเป็นกษัตริย์ก็ได้เป็นกษัตริย์อยู่อย่างนั้น ที่เป็นพราหมณ์ก็ดี เป็นเศรษฐีคหบดี พ่อค้าชาวนาพ่อครัว คนอนาถา คนจัณฑาลก็ดี ตายจากโลกนี้จะเกิดมาอีกเล่า เคยเป็นอย่างไรก็เกิดเป็นอย่างนั้นเหตุฉะนี้ จึงว่าผลบุญผลกรรมที่กระทำชั่ว กระทำดีนั้น ไม่มีสิ้นทั้งนั้น ขอถวายพระพร สมเด็จพระเจ้ามิลินท์จึงมีพระราชโองการตรัสโต้ว่าพระผู้เป็นเจ้าสิว่าผลกรรมไม่มีใครเคยเป็นเศรษฐีคหบดีและเพศต่าง ๆนั้น ครั้นตายไปเกิดมาใหม่เล่า ผู้นั้นก็เป็นตามเพศเก่าของตน ถ้ากระนั้นก็คนโทษที่ต้องตัดตีนสินมือนั้น ไปชาติหน้าก็จะเกิดเป็นคนโทษต้องตัด ตีนสินมืออีกหรือ ครูมักขลิโคสาลก็ถวายพระพรว่า กระนั้นแหละซิพระราชสมภาร คนโทษที่ตัดตีนสินมือนี้ไปชาติหน้าก็เกิดสำหรับที่เขาจะฆ่าตี ต้องตัดตีนสินมือไปทุกชาติ ๆ จะได้รู้สิ้นหามิได้พระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตริย์จึงมีพระราชโองการตรัสว่า โยมจะได้เชื่อหามิได้ ครูมักขลิโคสาลก็จนใจไม่รู้ที่จะอุปมาอุปไมยให้เห็นได้ด้วยปัญญาเป็นมิจฉาทิฐิลัทธิ


(๗) ทรงปริวิตก.
    ความวิตกที่จะถามปัญหานั้นก็บังเกิดในพระราชสันดาน พระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมิบาลเมื่อถามมักขลิโคสาลแล้ว เสด็จกลับไปสู่พระราชวัง วันหนึ่งนั้นท้าวเธอวิตกไปในพระราชสันดานว่า ดังเรามาวิตกแท้จริง ด้วยเพลาราตรีวันนี้ห่อนจะมีมลทิน ดวงศศิธรส่องท้องฟ้าไม่มีราคี อาตมามานี้ควรที่จะเที่ยวไปถามซึ่งอรรถปัญหา ครูบาอาจารย์ท่านเจ้าคณะและหมู่สงฆ์สมณะผู้ใด อันรู้ธรรมวินัย ได้เล่าเรียนธรรมวินัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสัมมาสัมพุทธบพิตรเจ้าประทานไว้ ใครหนออาจจะต้านต่อพูดจาปรากศรัยกับด้วยอาตมา ใครผู้ใดหนอจะตัดเสียซึ่งข้อกังขา อันมีในสันดานของอาตมาได้ อาตมาก็จะเข้าไปใกล้ไต่ถามซึ่งอรรถปัญหาแก่บุคคลผู้นั้น ครั้นทรงพระวิตกดำริฉะนี้แล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสแก่หมู่เสวกามาตย์โยนกข้าหลวง อันหมอบเฝ้าเดียรดาษอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวาเหมือนดังทรงพระดำริฉะนี้
     ส่วนว่าเสวกามาตย์ราชโยนกทั้งปวง จึงกราบทูลสนองพระราชโองการว่า ข้าแต่สมเด็จพระบรมบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐจะได้ทราบเกล้าทราบกระหม่อมหามิได้กราบทูลแล้วก็พากันก็นิ่งอยู่ จะได้มีผู้ใดทูลอีกหามิได้

(๘) สมณพราหมณ์หนี.
    จำเดิมแต่สมัยนั้นมา กรุงสาคลนครไม่มีสมณพราหมณาจารย์ ว่างเปล่ามาถึง ๑๒ ปี ด้วยเหตุว่าพระเจ้ามิลินท์ปิ่นกษัตราธิบดี รู้ว่าสมณพราหมณาจารย์ผู้ใดมีปัญญาก็ไปสู่มาหาถามอรรถปัญหาสมณพราหมณ์ สมพราหมณ์ที่มีปัญญาน้อยมิอาจจะแก้ได้ ก็แตกกันไปจากสาคลนคร สาคลนครไม่มีสมณะ ว่างเปล่าทีเดียวที่ไปสู่บ้านอื่นเมืองอื่นก็ดี ที่ไปสู่ป่าหิมพานต์นั้นก็มี โดยมากครามครัน ดังจะรู้มาว่าครั้งนั้นพระอรหันต์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์นั้นอาศัยอยู่ที่ภูเขา ณ ถ้ำรักขิตเลณะนั้นโสด ประมาณถึง ๑๐๐ โกฏิโดยคณนา

(๙) อัญเชิญพระมหาเสนเทวบุตร.
   ยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่งชื่อว่าพระอัสสคุตเป็นอรหันต์ผู้เฒ่า พระผู้เป็นเจ้ารู้เหตุที่พระเจ้ามิลินท์กระทำนี้ด้วยทิพโสตทรงทราบสิ้นสุด เห็นว่าพระศาสนาจะเสื่อมทรุดเศร้าหมอง พระอัสสคุตเถระพระผู้เป็นเจ้า จึงอปโลกน์บอกกล่าวชาวพระอรหันต์ ให้ประชุมพร้อมกันที่เขารักขิตเลณะ พระอัสสคุตเถระจึงมีวาจาประกาศพระอรหันต์ทั้ง ๑๐๐ โกฏิ ว่าพระอรหันต์ผู้ใดโสดอาจสามารถจะแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ได้ และจะให้พระยามิลินท์เลื่อมใสด้วยสติปัญญา กู้พระศาสนาขึ้นไว้ จะมีพระอรหันต์องค์ใดรับอาสาได้บ้าง พระอัสสคุตว่าถึงสองสามครั้ง ดังนั้นพระอรหันต์ทั้งหลายก็นิ่งไป ไม่มีพระอรหันต์ผู้ใดที่จะรับวาจา พระอัสสคุตจึงว่า อย่ากระนั้นเลย ท่านทั้งปวงเอ่ย ยังมีเทวบุตรผู้หนึ่งเสวยซึ่งทิพยสมบัติอยู่ในเกตุมดีพิมาน ด้านข้างปัจฉิมทิศตะวันตกตรงกันกับเวชยันต์วิมานเมืองดาวดึงสา และชื่อของเทวบุตรนั้นชื่อว่ามหาเสนเทวบุตร และมหาเสนเทพบุตรองค์นี้มีสติปัญญาอาจสามารถที่จะแก้ปัญหาของพระยามิลินท์ได้ ท่านทั้งปวงอย่าอยู่ช้า เราจงชวนกันขึ้นไปอาราธนามหาเสนเทวบุตร ให้จุติลงมาเกิดในมนุษย์โลกนี้เถิด พระอัสสคุตเถระผู้ประเสริฐก็พาพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิออกจากยอดสิงขรยุคันธรบรรพต ปรากฏใน
พิภพแห่งสมเด็จอมรินทราธิราช อันเป็นใหญ่ในดาวดึงส์สวรรค์นั้น

(๑๐) พรหมทัณฑ์.
   ฝ่ายพระอรหันต์ทั้งหลายรู้ว่ามหาเสนเทวบุตรรับปฏิญาณแล้ว ก็อันตรธานจากทิพยสถานวิมานฟ้า ลงมาปรากฏในหิมวันตบรรพตสถิตถ้ำรักขิตเลณะ พระอัสสคุตสังเถระผู้เฒ่าจึงถามสงฆ์ทั้งปวงว่า เมื่อเราให้ประชุมสงฆ์นั้น พระภิกษุรูปใดไม่มาบ้างหรือว่ามาสิ้นด้วยกัน ยังมีพระภิกษุรูปหนึ่งมีนามมิได้ปรากฏในวาระพระบาลี จึงเผดียงบอกแก่พระอัสสคุตว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มีอยู่องค์หนึ่งคือพระโรหณะผู้มีอายุไปเข้าปฐมฌาน อยู่หิมวันตบรรพต กำหนดได้ ๗ วันแล้ว จำเราจะใช้ทูตให้ไปนิมนต์มาเถิด ส่วนว่าพระโรหณเถระผู้ประเสริฐ รู้น้ำใจพระอรหันต์ว่าสงฆ์ให้หาด้วยทิพโสต ออกจากนิโรธสมาบัติมินานก็อันตรธานหายจากหิมวันตบรรพต มาปรากฏขึ้นในรักขิตเลณะ นั่งอยู่ตรงหน้าพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิ พระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิจึงตั้งกระทู้ซักพระโรหณะว่า ดูกรพระโรหณะ พระศาสนาของสมเด็จพระทศพลเจ้าโทรมทรุดร้าวฉานไป ทำไมท่านจึงไม่เอาใจใส่ตามกิจสงฆ์ พระโรหณะก็สารภาพว่าข้าพเจ้าหาได้เอาใจใส่ไม่ พระอรหันต์ทั้งหลายได้ฟังพระโรหณะสารภาพดังนั้นจึงมีวาจาว่า เราจะลงพรหมทัณฑ์ให้ท่านกระทำทัณฑกรรมเสียด้วยโทษท่านผิดหาได้มากระทำสังฆกรรมไม่ ไม่เอาหูนาตาใส่พระศาสนา พระโรหณะจึงมีวาจาว่าท่านทั้งปวงจะลงพรหมทัณฑ์แก่ข้าพเจ้าเป็นประการใดข้าพเจ้าก็จะกระทำมิได้ขัดพระอรหันต์ทั้งหลายจึงแจ้งความว่า ดูกรพระโรหณะยังมีบ้านพราหมณ์ชื่อว่าชังคลคามสถิตแทบใกล้ข้างเขาหิมพานต์ พราหมณ์ผู้นั้นเป็นนายบ้านชื่อโสณุตรพราหมณ์ โสณุตรพราหมณ์นั้นจะมีบุตรคนหนึ่งชื่อนาคเสนกุมาร เราจะลงพรหมทัณฑ์แก่ท่าน ท่านจงไปบิณฑบาตที่บ้านเรือนพราหมณ์ทุก ๆ วันโดยนิยมดังนี้ กว่าจะได้ ๗ ปี กับ ๑๐ เดือน คิดอ่านเอาเจ้านายนาคเสนกุมารมาจากเรือนพราหมณ์ พามาบวชเสียได้แล้วกาลใด ท่านก็ผ่องแผ้วพ้นจากอาชญาโทษพรหมทัณฑ์ในกาลเมื่อนั้น พระโรหณะก็รับคำพระอรหันต์ ๑๐๐ โกฏิในกาลนั้น

(๑๑) จุติจากเทวโลก.
    เมื่อมหาเสนเทวบุตรจุติจากสวรรค์มาบังเกิดในครรภ์ภรรยาพราหมณ์ ฝ่ายภรรยาพราหมณ์นั้นก็เป็นนางพราหมณี เผ่าพันธุ์พราหมณ์ด้วยกัน ส่วนนางพราหมณีนั้นทรงครรภ์ถ้วน ๑๐ เดือนแล้วก็คลอดบุตรงามบริสุทธิ์โสภา บิดามารดาจึงให้ชื่อว่านาคเสนกุมาร ครั้นเจ้านาคเสนกุมารค่อยวัฒนาการจำเริญวัยได้ ๗ ปี บิดามารดาจึงว่ากับนาคเสนกุมารบุตรของอาตมา ให้ร่ำเรียนศิลปศาสตร์นั้นมีกี่ประการ บิดามารดาจึงว่า ดูรานะกุมาร ไตรเพทนั้นมี ๓ ประการ และวิชาที่อาจารย์บอกนอกคัมภีร์ไตรเพทนั้นเรียกว่าศิลปศาสตร์ นี่แหละมีสำหรับสกุลพราหมณ์ร่ำเรียนสืบ ๆ กันมา นาคเสนกุมารให้ปฏิญาณว่าจะเรียนเอาให้ได้ ส่วนว่าโสณุตรพราหมณ์ผู้เป็นบิดา จึงให้เชื้อเชิญพราหมณ์อันเป็นอาจารย์มาที่เรือนแล้ว ก็ให้ทรัพย์ประมาณพันกหาปณะเป็นค่าจ้างบอกวิชาของอาจารย์ หวังจะให้บอกซึ่งไตรเพทวิชารการแก่เจ้านาคเสนกุมาร จึงแต่งที่ไว้ในเรือน ตั้งซึ่งเตียงและตั่งลาดปูไปด้วยบรรจถรณ์เครื่องลาดอันดีในที่ริมฝาเรือน จึงมีวาจาว่ากับเข้านาคเสนกุมารว่าให้เชื้อเชิญพราหมณาจารย์ขึ้นสังวังธยายไตรเพทให้เจ้านาคเสนนั่งฟังพราหมณ์สังวัธยายมนต์ดลคาถาไปตามภาษาข้างไสย ส่วนเจ้านาคเสนฟังครั้งเดียวก็จำได้จบครบทุกประการ ด้วยไวปัญญาสอดปัญญาจักขุเห็นประจักษ์แจ้งไปในไตรเพท ๓ มิได้ว่างเว้นหลงใหล และไตรเพทนั้นเป็นลักขณะต่างกัน ฟั่นเฝือโดยวิเศษมีประเภทต่างกันด้วยอักขรอักษรอันเป็นแก่นสาร สำหรับสกุลพราหมณ์นับถือมา

(๑๒) จบคัมภีร์ไตรเภท.
    อนึ่งเจ้านาคเสนกุมารมีปัญญาสอดส่องไปในคัมภีร์ปทกะ ๑ คัมภีร์พยากรณ์ ๑ คัมภีร์โลกายตะ ๑ คัมภีร์มหาสุบินลักขณะ๑ ปัญญาจักขุเห็นปรุโปร่งตลอดไปไม่เสื่อมทรุด เห็นไปในศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น และคัมภีร์ทั้ง ๔ ที่ว่ามานี้ มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นคัมภีร์คำรบ ๕ คัมภีร์ปทกะนั้นเป็นบทที่จะสวดพิธีเป็นต้น ชื่อว่าปทกะ และ คัมภีร์ไวยากรณ์คือคัมภีร์พยากรณ์ ดูฤกษ์และทำนายฤกษ์ปีเดือนวันคืน คัมภีร์โลกายตะนั้นว่าด้วยโลกพระอิศวรท้างมหาพรหมท่านสาปไว้ให้เป็นภูเขาและต้นไม้ และน้ำในทะเลให้เค็ม ด้วยเหตุเดิมอย่างนั้น ๆ จึงได้สาปไว้ให้ชื่อว่าโลกายตะ และคัมภีร์มหาสุบินลักขณะว่าด้วยทำนายฝัน และคัมภีร์อิติหาสปัญจมะนั้น ว่าด้วยจะล้างหน้าและจะอาบน้ำ และบริโภคอาหารและจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะนั้นก็ดี โดยสังขารเป็นอาทิฉะนี้ คือให้นั่งทิศนั้น ๆ ดีเรียกว่า อิติหาสะ ตกว่าไตรเพทก็ดี ศิลปศาสตร์ก็ดี ที่พราหมณาจารย์อ่านสังวัธยายให้ฟังนั้น เจ้านาคเสนกุมารฟังครั้งเดียวจำได้เห็นตลอดไปด้วยปัญญาจักขุปรุโปร่งเป็นอันดี ราวกะว่าเล่าท่องไว้ได้ ๑๐๐ ที ๑,๐๐๐ ที จำได้สิ้นครบจบเจน เจ้านาคเสนกุมารจึงมีวาจาถามว่า ข้าแต่บิดา สิกขาสำหรับสกุลพราหมณ์สิ้นสุดเท่านี้หรือ หรือว่ายังมีอื่นอีกประการใดเล่า พราหมณ์ผู้เป็นบิดาจึงว่า ดูกรเจ้าสิกขา สำหรับพราหมณ์มาแต่ก่อนเก่านั้นก็จบเท่านี้ อันดับนั้นนาคเสนทารกร่ำเรียนศึกษาแต่สำนักพราหมณาจารย์ แล้วก็ให้ทรัพย์ค่าจ้างบอกวิชาแล้ว ก็รับเอาซึ่งกำใบลานอาจารย์ให้เป็นกำใบลานหนังสือพราหมณ์ สำหรับที่จะได้ดูและอ่านการไตรเพทและศิลปศาสตร์ทุกสิ่งอัน เจ้านาคเสนได้กำใบลานหนังสือพราหมณ์นั้นแล้วก็ลีลาศลงจากปราสาทแล้วก็เดินมานั่งอยู่ที่ประตูศาลาคือประตูโรงที่ในรั้วบ้านของอาตมา ปุพพวาสนาหนหลังมาตักเตือนน้ำใจให้ร้อนรน รำพึงอยู่ที่ประตูศาลาอันเป็นที่รโหฐานที่สงัดไม่อื้ออึง เวียนไปนั่งรำพึงอยู่ที่นั่นถึง ๗ วัน เฝ้าพินิจพิจารณาดูไตรเพทศิลปศาสตร์นั้นแต่ต้นจนปลาย ก็เบื่อหน่ายไม่เห็นที่จะเป็นแก่นสาร ก็วิปปฏิสารีเดือดร้อนรำคาญใจมิได้เห็นเป็นผลเป็นประโยชน์ จึงว่ากับปากของตนเองว่า ดูกรชาวเรา ศิลปศาสตร์ไตรเพทที่เราร่ำเรียนมาเหมือนลอมฟาง เห็นเปล่าไม่เป็นแก่นเป็นสาร เมื่อเจ้านาคเสนกุมารรำพึงอยู่ในที่รโหฐานดังนี้

(๑๓) รู้วาระจิต.
   พระโรหณเถระผู้มีอายุนั่งอยู่ ณ วัตตนิยเสนาสนะ รู้วาระน้ำจิตของเจ้านาคเสนกุมารจะยินดีมาในพระบวรพุทธศาสนา พระผู้เป็นเจ้าลุกจากอาสนะมุ่งสบงทรงจีวรกรจับบาตร ก็อันตรธรหายจากวัตตนิยเสนาสนะด้วยกำลังฌานเสด็จมาปรากฏที่ชังคลคามอันเป็นบ้านของพราหมณ์นั้น ฝ่ายเจ้านาคเสนกุมารสถิตอยู่ที่ประตูศาลา ได้ทัศนาการเห็นพระโรหณเถรเจ้าก็มีจิตหรรษา จะใคร่ถามหาธรรมที่เป็นแก่นสาร จึงคมนาการมาสู่สำนักมีวาจาถามว่า ข้าแต่ท่านผู้มีศีรษะโล้นปราศจากทุกข์ภัย เป็นไฉนท่านจึงนุ่งผ้ากาสาวะอันย้อมด้วยน้ำฝาด พระโรหณะจึงบอกว่า อาตมากระทำฉะนี้เรียกว่าเป็นบรรพชิต เจ้านาคเสนจึงถามว่า บรรพชิต ๆนี้แปลว่าอย่างไร พระโรหณะจึงแก้ไขว่า เรียกว่าบรรพชิตนี้โสดเหตุปราศจากบาป เจ้านาคเสนกุมารจึงถามพระโรหณะว่าท่านรู้ศิลปศาสตร์อยู่หรือ พระโรหณะจึงบอกว่าอาตมารู้อยู่ ศิลปศาสตร์ของเรานี้อุดมล้ำเลิศกว่าศิลปศาสตร์อื่น ๆ อันมีในโลก เจ้าจะเรียนหรือ เจ้านาคเสนจึงว่าข้าพเจ้าจะเรียนแล แต่ทว่า จะถามปัญหาท่านก่อน ท่านจะแก้ได้หรือ พระโรหณะจึงมีวาจาว่าท่านจะถามปัญหาก็ถามเถิด อาตมาอาจจะแก้ไม่เป็นเหมือนคนทั้งหลาย ท่านได้อุบายเห็นว่าคุณและโทษประการใด จึงโกนเกศาและหนวดเสีย

(๑๔) โทษของการครองเรือน.
    พระโรหณะจึงวิสัชนาแก้ไขว่า ดูกรทารก อาตมาละเสียซึ่งปลิโพธกังวล ๑๖ประการคือปลิโพธกังวลด้วยอาภรณ์ผ้านุ่งห่มประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยเครื่องประดับประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยไปสู่มาหาช่างทองทำของแต่งตัวประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยขัดสีประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยต้องเก็บสิ่งของทั้งปวงไว้ประการ ๑ กังวลด้วยล้างซักประการ ๑ กังวลด้วยจะหาดอกไม้มาแซมเกศาและประดับต่าง ๆ ประการ ๑ กังวลด้วยหาของหอมประการ ๑ กังวลด้วยหาของอบรมนั้นประการ ๑กังวลด้วยสมองประการ ๑ ปลิโพธกังวลด้วยมะขามป้อมประการ ๑ กังวลอยู่ด้วยดินประการ ๑สมอมะขามป้อมและดิน ๓ ประการนี้เป็นยาประสระผม ปลิโพธกังวลด้วยไม้กลัดผมประการ ๑ กังวลด้วยมุ่นผมเกล้าผมประการ ๑ กังวลด้วยหวีผมประการ ๑ กังวลด้วยหาช่างกัลบกทำผมประการ ๑กังวลด้วยอาบน้ำดำลงไปเหม็นสาบผมประการ ๑ ผสมเป็นกังวล ๑๖ ประการดังนี้ ประการหนึ่งเล่ากิมิชาติหมู่หนอนทั้งหลายมากมายกินอยู่ทุก ๆ รากเกศากินไปจนหงอกเสียสีคนทั้งหลายเห็นผมของตัวไม่ดีก็เกิดเศร้าโศกสองค่อนทรวงเข้าเฝ้าแต่ว่าเสียใจก็ร้องไห้ร่ำไรรักผมของอาตมา นี่แหละดูกรกุมาร เมื่อผู้ใด
ประกอบอยู่ในปลิโพธ ๑๖ประการนี้ มิอาจที่จะเรียนวิชาการศิลปศาสตร์อย่างดีได้ เจ้านาคเสนกุมารได้ฟงัพระโรหณะแก้ไขก็อัศจรรย์ใจ จึงถามพระโรหณะว่า พระผู้เป็นเจ้านุ่งห่มแปลกเขาเป็นเหตุไฉน พระโรหณะถึงว่า ดูกรกุมาร ฟ้านุ่งผ้าห่มของชาวบ้านบริโภคกามคุณ ผ้านุ่งผ่าห่มนั้นก็เป็นนิมิตของฆราสวาส ยังภัยอันตรายต่าง ๆ ให้บังเกิด เพราะเหตุผ้านุ่งห่มนั้นไม่ประเสริฐเลย ดูกรนาคเสนกุมาร เหตุดังนี้ผ้านุ่งผ้าของอาตมา จึงไม่เหมือนคนทั้งหลาย ภัยอันตรายจึงมิได้แผ้วพาน นาคเสนกุมารก็ชื่นบานหรรษาถามพระโรหณะว่า ข้าแต่ท่านผู้เนียรทุกข์ สำราญซึ่งสุขนิราศภัย ท่านอาจสามารถที่จะบอกศิลปศาสตร์ให้แก่ข้าพเจ้าได้หรือ พระโรหณะก็รับคำเจ้านาคเสนว่า อาตมาจะบอกให้เจ้านาคเสนเป็นทารกยังไม่มีอัชฌาสัยจึงว่า ถ้ากระนั้นจงบอกให้ข้าพเจ้าบัดเดี๋ยวนี้เถิด พระโรหณะจึงว่า ดูรานะกุมาร ที่ท่านจะให้อาตมาบอกบัดเดี๋ยวนี้ยังไม่ได้ อาตมาจะไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน ฝ่ายเจ้านาคเสนกุมาร ก็รับเอาบาตรคมนาการลีลาศไปเรือนบิดามารดาที่พระโรหณะเคยมานั่งฉันอยู่ทุกวัน จึงอังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีตบรรจง กระทำด้วยมือของอาตมาแล้วก็อาราธนานิมนต์พระโรหณะมาฉัน ส่วนพระโรณะนั้นครั้นกระทำภัตกิจฉันจังหันเสด็จแล้วมีพระกรกุมบาตรอยู่ เจ้านาคเสนทารกรับว่าจะเรียนความรู้ พระโรหณะผู้เป็นเจ้าจึงกล่าววาจาว่า ดูกรทารก รูปจะบอกให้แล แต่ทว่าต่อเมื่อไรท่านสละเสียซึ่งปลิโพธกังวล ๑๖ประการอำลาบิดามารดาบิดามารดาให้อนุญาตแล้วก็ไปอยู่กับอาตมา กระทำเพศให้เป็นบรรพชิตเหมือนอาตมา อาตมาก็จะบอกความรู้วิชาให้แก่เจ้าในกาลนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น